การพิมพ์หนังสือแบบดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย คุณต้องส่งต้นฉบับไปรอคำตอบที่อาจไม่มีวันมา พร้อมพยายามมองโลกในแง่ดีแม้จะมีโอกาสโดนปฏิเสธ และถึงแม้จะได้สำนักพิมพ์แล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาหลายเดือนในการเจรจาทิศทางงานสร้างสรรค์และการแบ่งรายได้
แต่ก็ยังมีอีกทางหนึ่ง คุณสามารถเขียน แก้ไข พิมพ์ขายหนังสือของตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านด่านของสำนักพิมพ์แบบเดิม
เราได้พูดคุยกับ Julie Broad ผู้เขียนหนังสือ Self-Publish & Succeed และผู้ก่อตั้งบริการทำหนังสือขายเอง Book Launchers เกี่ยวกับข้อดีของการทำหนังสือขายเองและวิธีเริ่มต้นแบบที่ใครก็ทำได้
ทำไมการทำหนังสือขายเอง ถึงเป็นไอเดียที่ใช่?
ถ้าคุณกำลังมีไฟอยากเขียนหนังสือ แล้วอยากเห็นผลงานของตัวเองออกขายแบบไม่ต้องรอใคร การทำหนังสือขายเองคือเส้นทางที่ทั้งยืดหยุ่น ได้กำไร และควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง นี่คือเหตุผลที่ใครๆ ก็เริ่มต้นได้ ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจไปจนถึงนักเล่าเรื่องชีวิตจริง
คุณยังเป็นเจ้าของไอเดียทั้งหมด
Julie Broad บอกว่า “ถ้าพิมพ์กับสำนักพิมพ์แบบเดิม ผู้เขียนต้องขายสิทธิ์ในงานของตัวเองให้เขาไป” แต่ถ้าคุณเขียนเรื่องจากประสบการณ์ตรง หรือเป็นแนวคิดที่พัฒนามานาน การเก็บสิทธิ์ไว้เองคือสิ่งที่มีค่ามาก “โดยเฉพาะเจ้าของกิจการที่ใช้เวลาสร้างระบบของตัวเองมาหลายปี คงไม่อยากให้ใครถือสิทธิ์ในสิ่งนั้น”
กำไรต่อเล่มสูงกว่าเยอะ
รายได้จากหนังสือแบบดั้งเดิมมักจะถูกหักไปหลายต่อ Julie บอกว่า “ถ้าคุณได้แค่ 1 ดอลลาร์ต่อเล่ม ก็นับว่าโชคดีแล้ว” แต่ถ้าคุณทำหนังสือขายเอง รายได้ต่อเล่มอยู่ที่ประมาณ 5–6 ดอลลาร์หลังหักค่าจัดจำหน่าย เท่ากับว่าทุกเล่มที่ขายได้คือเงินที่จับต้องได้จริง
ตัดสินใจได้ทุกเรื่อง ทั้งครีเอทีฟและธุรกิจ
อยากแจกฟรี อยากขายเหมา อยากใช้หนังสือเป็นเครื่องมือ PR ก็ทำได้หมด “คุณสามารถเอาหนังสือไปแลกพื้นที่สื่อ หรือโอกาสขึ้นเวทีได้เลย” Julie เสริม “แต่ถ้าอยู่กับสำนักพิมพ์ คุณอาจไม่มีสิทธิ์เลือกแบบนั้น เพราะเขาต้องคิดเรื่องยอดขายก่อน”
และถ้าวันหนึ่งมีดีลดีๆ จากสำนักพิมพ์เข้ามา ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก “บางคนเริ่มจากทำหนังสือขายเอง แล้วค่อยไปต่อยอดกับสำนักพิมพ์ในภายหลัง” Julie บอก “เส้นทางนี้ยืดหยุ่น ไม่มีอะไรล็อกคุณไว้ตลอดไป”
ทำหนังสือขายเองใน 8 สเต็ปที่ใครก็เริ่มได้
- รู้จักกลุ่มผู้อ่านของคุณ
- ทำงานร่วมกับบรรณาธิการที่ใช่
- ออกแบบปกหนังสือให้น่าสนใจ
- เลือกแพลตฟอร์มสำหรับพิมพ์ขาย
- จัดรูปแบบหนังสือให้เรียบร้อย
- ขอเลข ISBN
- สร้างร้านบน Shopify
- ทำการตลาดให้หนังสือของคุณ
เส้นทางการทำหนังสือขายเองของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ขั้นตอนหลักเหล่านี้จะช่วยให้คุณเดินหน้าได้อย่างมั่นใจตั้งแต่ต้นจนวางขายจริง
1. รู้จักกลุ่มผู้อ่านของคุณ
“คุณควรเริ่มคิดเรื่องการตลาดตั้งแต่ก่อนเขียนจบด้วยซ้ำ” Julie กล่าว ไม่ได้หมายความว่าต้องวางแผนการตลาดเต็มรูปแบบตั้งแต่แรก แต่ควรรู้ว่าใครคือคนที่คุณอยากให้มาอ่าน
“ยิ่งเจาะจงได้เท่าไหร่ยิ่งดี” Julie แนะนำ “อย่าเขียนให้ทุกคนบนโลก—ให้เลือกคนอ่านที่ชัดเจน แล้วใช้ภาษาที่เขาใช้” การมีภาพผู้อ่านในใจจะทำให้ทั้งการเขียนและการทำหนังสือขายเองง่ายขึ้น “หลายคนเขียนเสร็จก่อนแล้วค่อยมาคิดเรื่องขาย แต่ตอนนั้นอาจยากเกินไปที่จะทำให้หนังสือดูน่าซื้อ”
2. ทำงานร่วมกับบรรณาธิการที่ใช่
หนังสือของคุณจะต้องไปอยู่บนชั้นเดียวกับหนังสือพิมพ์จากสำนักพิมพ์ใหญ่ ถ้าอยากให้ดูดีไม่แพ้กัน ต้องผ่านกระบวนการปรับแก้โดยบรรณาธิการแบบครบชุดตามลำดับนี้
-
Content editor: ตรวจต้นฉบับในภาพรวม แนะนำให้ตัดหรือเพิ่มบางส่วนตามโครงสร้างเรื่อง
-
Fact checker: สำหรับหนังสือ non-fiction ช่วยตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง
-
Copy editor: เกลาไวยากรณ์และคำสะกดให้ดูมืออาชีพ
- Proofreader: ตรวจรอบสุดท้ายก่อนพิมพ์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาดหลงเหลืออยู่
“หลายคนใช้บรรณาธิการผิดประเภทในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะ เพราะไม่รู้ว่าแต่ละแบบมีหน้าที่ต่างกัน” Julie เสริม
ในฐานะนักเขียนที่ทำหนังสือขายเอง คุณสามารถเลือกบรรณาธิการที่เหมาะกับสไตล์ของตัวเองได้ ลองหาฟรีแลนซ์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้:
หรือจะเลือกใช้บริการแบบครบวงจร เช่น Book Launchers ของ Julie ก็ได้
3. ออกแบบปกหนังสือให้น่าสนใจ
ปกหนังสือคือจุดขายแรกสุดของคุณ ไม่ว่าจะอยู่ในร้านออนไลน์ แพลตฟอร์ม marketplace หรือร้านค้า Shopify ปกต้องทำให้คนอยากหยิบ อยากคลิก และอยากซื้อ
เวลาจะออกแบบเองหรือจ้างนักออกแบบ ลองคิดแบบนักการตลาด
-
ออกแบบให้ดูดีแม้เป็น thumbnail: ปกของคุณจะถูกย่อขนาดในหลายแพลตฟอร์ม
-
ตั้งชื่อให้อ่านง่าย จำได้: เพราะคนจะเห็นชื่อก่อนเปิดรายละเอียด
- อย่าลืมสันและปกหลัง: สำคัญมากสำหรับหนังสือเล่มพิมพ์
คุณสามารถหานักออกแบบปกหนังสือได้จากแพลตฟอร์มเดียวกับที่หาบรรณาธิการ หรือถ้าคุณมีพื้นฐานด้านกราฟิก ลองใช้เครื่องมือฟรี อย่าง
4. เลือกแพลตฟอร์มสำหรับพิมพ์ขาย
เมื่อต้นฉบับและปกหนังสือของคุณพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลานำหนังสือออกสู่ตลาด โดยคุณอาจเลือกใช้หลายแพลตฟอร์มควบคู่กัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณวางแผนจะขายหนังสือผ่านช่องทางไหน
นักเขียนไทยจำนวนมากใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น
-
Ookbee หรือ Meb สำหรับจำหน่าย eBook ให้ผู้อ่านชาวไทย
-
ร้านออนไลน์ของตัวเองผ่าน Shopify สำหรับขายเล่มจริงโดยตรง
-
Shopee หรือ Lazada สำหรับเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อทั่วไปที่ใช้แอปอีคอมเมิร์ซ
-
Google Play Books สำหรับอีบุ๊กที่อ่านบนสมาร์ตโฟน
- BookFunnel (ยังสามารถใช้ได้) สำหรับแจก eBook ผ่านจดหมายข่าว
แพลตฟอร์มเหล่านี้หลายแห่งมีบริการพิมพ์ตามสั่ง (Print-on-Demand) ซึ่งหนังสือจะถูกพิมพ์และจัดส่งเมื่อมีออเดอร์ วิธีนี้ช่วยให้คุณลดต้นทุน ไม่ต้องสต๊อกหนังสือไว้ล่วงหน้า และประหยัดเวลาโดยให้ระบบดูแลเรื่องการผลิตและขนส่งให้ทั้งหมด
อีกทางเลือกสำหรับคนที่ใช้ Shopify คือการเชื่อมต่อกับบริการ Print-on-Demand อย่าง Lulu Direct ที่ทำงานร่วมกับร้านของคุณได้ หรือจะใช้ Blurb ที่มาพร้อมเครื่องมือออกแบบโดยเฉพาะสำหรับหนังสือภาพก็ได้เช่นกัน
5. จัดรูปแบบหนังสือให้เรียบร้อย
ก่อนจะปล่อยขาย หนังสือของคุณต้องผ่านการจัดรูปแบบให้ดูมืออาชีพ อย่าลืมหาข้อมูลว่าพลตฟอร์มแต่ละเจ้าใช้รูปแบบไฟล์แบบไหน เพราะอาจมีข้อกำหนดแตกต่างกัน
โดยทั่วไป แพลตฟอร์มทำหนังสือขายเองจะต้องใช้ไฟล์ 2 ประเภท
- ไฟล์ต้นฉบับเนื้อหาด้านใน
- ไฟล์ปกหนังสือ (ด้านหน้า สัน และด้านหลัง)
สำหรับไฟล์ต้นฉบับ แนะนำให้ใส่องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้
-
ขนาดกระดาษและระยะขอบ: ตั้งค่าตามที่แพลตฟอร์มกำหนด
-
หน้าครึ่งชื่อ (Half-title page): ใส่แค่ชื่อหนังสือ ไม่มีเลขหน้า
-
หน้าชื่อหนังสือ (Title page): ใส่ชื่อผู้เขียนและชื่อรอง ถ้ามีโลโก้ก็ใส่ได้แต่ไม่บังคับ
-
หน้าลิขสิทธิ์: อยู่ฝั่งซ้ายหลัง title page ระบุข้อมูลลิขสิทธิ์ ใช้เทมเพลตก็ได้หากไม่แน่ใจ
-
หน้ามอบให้ (Dedication): เขียนสั้นๆ 1–2 บรรทัด ไม่มีเลขหน้า
-
สารบัญ: ระบุชื่อบทและเลขหน้า
-
หน้าชื่อบท: แต่ละบทควรเริ่มด้วยหน้าชื่อ ใส่เลขหน้าแต่ไม่ต้องมีหัวกระดาษ
-
เนื้อหาหลัก: ใส่หัวกระดาษ โดยให้ชื่อคุณอยู่ด้านซ้าย และชื่อหนังสืออยู่ด้านขวา
-
บรรณานุกรมและแหล่งอ้างอิง: สำหรับหนังสือ non-fiction
-
ประวัติผู้เขียน: แนบรูปพร้อมแนะนำตัวสั้นๆ
- ดัชนี: สำหรับหนังสือ non-fiction ให้เรียงหัวข้อ A–Z พร้อมเลขหน้า
6. ขอเลข ISBN
หนังสือทุกเล่มควรมี ISBN (International Standard Book Number) ซึ่งเป็นรหัส 13 หลักที่ใช้ระบุฉบับหนังสือ ผู้จัดพิมพ์ และรายละเอียดทางกายภาพ
ISBN ช่วยให้สามารถติดตามหนังสือของคุณได้ในระบบร้านค้า หอสมุด และแพลตฟอร์มออนไลน์ และยังเป็นเครื่องยืนยันความเป็นเจ้าของเนื้อหาอีกด้วย ซึ่งถือว่าสำคัญมากสำหรับคนที่ทำหนังสือขายเอง
แพลตฟอร์มหลายแห่งให้ ISBN ฟรี แต่ถ้าไม่มี คุณสามารถขอซื้อ ISBN ที่ใช้งานได้กับทุกแพลตฟอร์มผ่านช่องทางออนไลน์
7. สร้างร้านออนไลน์ด้วย Shopify
ตั้งค่าร้านออนไลน์สำหรับขายหนังสือของคุณ แม้ว่าคุณจะวางขายผ่านช่องทางอื่นอย่าง Shopee, Ookbee หรือร้านหนังสือก็ตาม
“หนึ่งในเหตุผลที่เราแนะนำให้ลูกค้าขายเองโดยตรง ก็เพราะแพลตฟอร์มอย่าง Amazon หรือร้านหนังสือทั่วไปจะไม่บอกคุณว่าใครเป็นคนซื้อหนังสือของคุณ” Julie กล่าว “แต่ถ้าคุณขายเองโดยตรง คุณไม่เพียงแค่ทำกำไรต่อเล่มได้มากขึ้น แต่ยังได้ข้อมูลของลูกค้าอีกด้วย นั่นถือเป็นข้อได้เปรียบใหญ่เมื่อเทียบกับการขายผ่านช่องทางที่คุณไม่รู้เลยว่าใครซื้อหนังสือคุณไป”
Julie ขายหนังสือของเธอผ่านร้าน Shopify โดยตรง “เราลองใช้มาหลายแพลตฟอร์ม และเราชอบที่ Shopify ออกแบบมาเพื่อให้นักเขียนประสบความสำเร็จได้ง่าย” Julie กล่าว “พอตั้งค่าร้านเสร็จแล้ว นักเขียนสามารถจัดการร้านเองได้สบายมาก Shopify ยังช่วยดูแลหลายส่วนของหน้าร้านที่นักเขียนอาจไม่อยากเสียเวลา เช่น การทำชุดสินค้าและขายเพิ่ม (upsell)”
8. ทำการตลาดให้หนังสือของคุณ
“ไม่ว่าหนังสือคุณจะดีแค่ไหน ถ้าไม่ทำการตลาด ก็ขายไม่ออก” Julie กล่าว กลยุทธ์การตลาดของคุณควรสอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู
-
แชร์ตัวอย่างบนโซเชียลมีเดีย: โพสต์เนื้อหาบางส่วนเพื่อดึงดูดความสนใจ แล้วใส่ลิงก์ไปหน้าซื้อหนังสือของคุณ
-
สร้างรีวิวจากผู้อ่านจริง: ติดต่อกลุ่มผู้อ่านกลุ่มแรกแล้วขอรีวิวแบบตรงไปตรงมา ใช้แอปอย่าง Opinew และ Trustify พื่อรวบรวมและแสดงรีวิวให้ดูน่าเชื่อถือ หรือจะรวมรีวิวจาก Shopee, Facebook, หรือ LINE Official Account มาช่วยสร้างความน่าไว้ใจก็ได้เช่นกัน
-
ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์: หาผู้ที่มีฐานผู้ติดตามตรงกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ เพื่อขยายการเข้าถึงหนังสือ
-
ติดต่อสื่อวรรณกรรมหรือพ็อดแคสต์: เสนอสัมภาษณ์หรือรีวิวให้กับเว็บหรือพ็อดแคสต์ที่เกี่ยวข้องกับแนวหนังสือของคุณ
- สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่า: เพิ่มบล็อกลงในร้าน Shopify ของคุณ เพื่อดึงทราฟฟิกจากกลุ่มผู้อ่านใหม่ พร้อมวางแผนเนื้อหาแบบ SEO เพื่อเพิ่มโอกาสติดอันดับในผลการค้นหา
ทำหนังสือขายเองต้องใช้เงินเท่าไหร่?
แต่ละขั้นตอนของการทำหนังสือขายเองจะมีต้นทุนที่ต่างกันไป แต่คุณสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก หากเรียนรู้วิธีลงมือทำบางอย่างด้วยตัวเอง
ต่อไปนี้คือส่วนต่างๆ ที่มักมีค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือขายเอง
การแก้ไขต้นฉบับ (Editing)
ค่าบรรณาธิการขึ้นอยู่กับประเภทของงาน เช่น การเกลาคำ (Copyediting) หรือการแก้โครงสร้างเนื้อหา (Developmental editing) โดยทั่วไปในไทยอยู่ที่ประมาณ 80–150 บาทต่อหน้า A4 สำหรับการเกลาภาษา และ 150–300 บาทต่อหน้า A4 สำหรับงานที่ต้องปรับโครงสร้างหรือลำดับเนื้อหาใหม่ สำหรับต้นฉบับทั่วไปขนาดประมาณ 60,000 คำ (หรือราว 240 หน้า A4) ค่าบริการทั้งหมดอาจอยู่ในช่วง 20,000–50,000 บาท ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเนื้อหาและระดับความละเอียดที่ต้องการ
การออกแบบปกและจัดรูปเล่ม
การจ้างนักออกแบบมืออาชีพเพื่อออกแบบปกหนังสือในไทยโดยทั่วไปเริ่มที่ประมาณ 3,000–10,000 บาท หากจ้างนักออกแบบที่มีประสบการณ์สูงหรือมีชื่อเสียงอาจสูงถึง 15,000 บาท ขึ้นไป
สำหรับการจัดรูปเล่ม (Typesetting) หากคุณทำเอง อาจใช้ซอฟต์แวร์ฟรีอย่าง Canva, Affinity Publisher หรือใช้โปรแกรมเฉพาะทางที่มีค่าบริการครั้งเดียว เช่น Atticus (มีจำหน่ายแบบซื้อขาดประมาณ 5,000 บาทจากต่างประเทศ)
แต่ถ้าใช้บริการจัดรูปเล่มโดยมืออาชีพ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,500–8,000 บาท แล้วแต่ความซับซ้อน
ISBN
สำหรับผู้เขียนไทยสามารถขอ ISBN ได้ฟรี จากหอสมุดแห่งชาติผ่านระบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม คุณควรเตรียมข้อมูลหนังสือให้พร้อม เช่น ชื่อเรื่อง, จำนวนหน้า, ขนาดหนังสือ และรายละเอียดผู้จัดพิมพ์ (ถ้าคุณพิมพ์เอง ให้ระบุเป็น “Self-published”)
การพิมพ์และจัดส่ง
หากต้องการพิมพ์หนังสือแบบเล่มจริง ราคาในไทยขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าและจำนวนพิมพ์ ตัวอย่างราคาจากโรงพิมพ์ทั่วไป
- หนังสือขนาด A5 ขาวดำ 100 หน้า จำนวน 100 เล่ม ราคาประมาณ 40–60 บาทต่อเล่ม
- หนังสือขนาด A5 300 หน้า ขาวดำ ปก 4 สี จำนวน 100 เล่ม ราคาประมาณ 80–120 บาทต่อเล่ม
- ถ้าพิมพ์น้อยกว่า 50 เล่ม ราคาต่อเล่มอาจสูงขึ้นถึง 150–200 บาทต่อเล่ม
ค่าจัดส่งจะขึ้นอยู่กับขนาดหนังสือและน้ำหนัก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25–50 บาทต่อเล่ม หากส่งแบบพัสดุลงทะเบียนหรือ Kerry/Flash Express
การทำการตลาด
ถึงแม้คุณจะทำการตลาดเอง แต่ก็มักมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น
- โฆษณาบน Facebook หรือ Instagram เริ่มต้นประมาณ 100–300 บาทต่อวัน
- ค่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์รีวิวหนังสือบน TikTok หรือ YouTube เริ่มที่ประมาณ 500–2,000 บาทต่อคน แล้วแต่จำนวนผู้ติดตาม
- การทำหน้าเว็บไซต์หรือ Landing Page ด้วย Shopify ค่าธรรมเนียมรายเดือนเริ่มต้นที่ $25 (ประมาณ 900 บาท)
- หากต้องการโฆษณาในนิตยสารหรือเว็บไซต์วรรณกรรม ราคาสามารถพุ่งถึง 5,000–20,000 บาท ต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของสื่อ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำหนังสือขายเอง
ทำหนังสือขายเองโดยเฉลี่ยต้องใช้เงินเท่าไหร่?
ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเนื้อหาและขนาดหนังสือ ถ้าคุณลงมือทำเองเกือบทุกอย่าง (DIY) งบโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 180,000–220,000 บาท แต่ถ้าคุณต้องการให้คุณภาพเทียบเท่าหนังสือจากสำนักพิมพ์แบบมืออาชีพ ค่าทำหนังสืออาจสูงถึง 550,000–750,000 บาท
การทำหนังสือขายเองยากมั้ย?
การทำหนังสือขายเองใช้เวลาน้อยกว่าการส่งให้สำนักพิมพ์ แต่คุณจะต้องดูแลทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ตั้งแต่หาบรรณาธิการ ออกแบบปก ไปจนถึงทำการตลาด หากคุณต้องการให้หนังสือขายได้จริง จำเป็นต้องลงทุนทั้งเวลา แรง และงบประมาณอย่างเต็มที่
จำเป็นต้องจดลิขสิทธิ์หนังสือที่ทำขายเองหรือไม่?
ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย งานเขียนของคุณจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติตั้งแต่เผยแพร่ครั้งแรก แต่หากต้องการความมั่นใจมากขึ้น คุณสามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ โดยเฉพาะหากวางแผนเผยแพร่ไปยังต่างประเทศที่ไม่รองรับระบบคุ้มครองอัตโนมัติ