เมื่อพูดถึงการขายของบนโซเชียลมีเดีย แทบไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่เข้าถึงคนได้มากเท่ากับ Facebook แม้จะมีแอปใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ Facebook ก็ยังมีผู้ใช้งานมากที่สุดอยู่ดี ซึ่งนั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร โอกาสในการเจอลูกค้าใหม่ๆ บน Facebook และ Instagram ก็ยังมีอยู่อีกเพียบ
จากผลสำรวจพบว่า นักช้อปออนไลน์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันมาซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือก็คือการซื้อขายโดยตรงบนแพลตฟอร์มโซเชียล แทนที่จะซื้อผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบเดิม
ถ้าคุณอยากเริ่มขายของใน Facebook แต่ยังไม่รู้จะเริ่มยังไง คู่มือฉบับนี้เหมาะกับคุณที่สุด เราจะพาไปดูทีละขั้นตอน ทั้งการขายของใน Facebook Marketplace และ Facebook Shops พร้อมเทคนิคการลงขายสินค้าและตั้งราคาให้โดนใจลูกค้า
ช่องทางวิธีขายของใน Facebook มีอะไรบ้าง?
Facebook มีเครื่องมือหลากหลายให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ใช้งานทั่วไปได้ขายของออนไลน์อย่างสะดวก ต่อไปนี้คือช่องทางยอดนิยมที่คุณสามารถใช้ขายของใน Facebook ได้
Facebook มีเครื่องมือมากมายที่ช่วยให้ทั้งร้านค้าและผู้ใช้งานทั่วไปขายของใน Facebook ได้ง่ายขึ้น ด้านล่างนี้เราจะอธิบายแต่ละช่องทางแบบละเอียด แต่ก่อนอื่น มาดูภาพรวมของวิธีสร้างรายได้ผ่าน Facebook กันก่อน
Facebook Shops
ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่อยากสร้างฐานลูกค้า ขยายแบรนด์ และเพิ่มยอดขายไปพร้อมกัน ช่องทางที่เหมาะที่สุดในการเริ่มขายของใน Facebook ก็คือ Facebook Shops
ใน Facebook Shops ร้านค้าสามารถตั้งหน้าร้านออนไลน์แบบเต็มรูปแบบได้โดยตรงในเพจธุรกิจ ลูกค้าไม่ต้องออกจากแอป Facebook ก็สามารถกดสั่งซื้อได้ทันทีระหว่างเลื่อนฟีด
💡 อยากรู้วิธีขายของผ่าน Facebook Shops? ข้ามไปดูวิธีขายของใน Facebook Shops ของเราได้เลย
Facebook Marketplace
เดิมที Facebook Marketplace ถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับการซื้อขายระหว่างผู้ใช้งานทั่วไป (C2C) ลักษณะคล้ายกับ Craigslist ผู้ใช้สามารถลงประกาศขายสินค้า นัดเจอเพื่อส่งมอบสินค้า หรือชำระเงินกันโดยตรง
Marketplace ยังคงทำหน้าที่นี้ได้ดีสำหรับผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยมีรายงานว่ามีผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งพันล้านคนต่อเดือน และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Facebook ก็ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น ระบบชำระเงินและตัวเลือกการจัดส่ง เพื่อรองรับความต้องการของร้านค้าและธุรกิจขนาดเล็ก
💡 อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการขายของใน Facebook Marketplace? ข้ามไปดูวิธีขายของใน Facebook Marketplace ของเราได้เลย
กลุ่มซื้อขายใน Facebook
หนึ่งในเหตุผลที่ Facebook Marketplace เริ่มรองรับร้านค้ามากขึ้น ก็มาจากพฤติกรรมการซื้อขายที่มักเกิดขึ้นใน กลุ่มซื้อขายบน Facebook
กลุ่มใดๆ บน Facebook ก็สามารถเปิดใช้ฟีเจอร์ซื้อขายได้ ซึ่งเหมาะมากสำหรับชุมชนในพื้นที่เฉพาะ หรือกลุ่มที่รวมตัวกันตามความสนใจเดียวกัน
กลุ่มซื้อขายจะเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่ต้องการซื้อขายของในแบบตลาดนัดมือสอง แม้จะไม่ใช่ช่องทางหลักในการ ขายของใน Facebook สำหรับร้านค้า แต่ก็สามารถใช้เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ในระดับชุมชนได้เช่นกัน
💡 อยากรู้วิธีขายของผ่านกลุ่มซื้อขาย Facebook? ข้ามไปดูวิธีขายของผ่านกลุ่มซื้อขายใน Facebook ของเราได้เลย
ต่อไป มาดูวิธีขายของใน Facebook ผ่านทั้ง 3 ช่องทางหลักแบบละเอียดกัน
วิธีขายของใน Facebook Shops
- สร้างเพจธุรกิจบน Facebook
- เพิ่มส่วนร้านค้า
- เลือกวิธีการชำระเงิน
- เลือกช่องทางขายและบัญชี Business Manager
- เลือกแค็ตตาล็อกสินค้า
- ตั้งเงื่อนไขการจัดส่งและการคืนสินค้า
- ส่งขออนุมัติร้านและตั้งค่าให้เสร็จสมบูรณ์
หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กหรือครีเอเตอร์ที่ต้องการขายของโดยตรงใน Facebook และแอป Facebook การเริ่มต้นด้วยการสร้างร้านค้าคือขั้นตอนที่ขาดไม่ได้
1. สร้างเพจธุรกิจบน Facebook
หากธุรกิจของคุณยังไม่มีเพจ Facebook คุณจะต้องเริ่มจากการสร้างเพจก่อน
ไม่จำเป็นต้องสมัครบัญชี Facebook ใหม่ เพจธุรกิจจะถูกจัดการแยกจากโปรไฟล์ส่วนตัวของคุณ และจะไม่เชื่อมโยงกันแบบสาธารณะ เว้นแต่คุณจะเลือกแชร์โพสต์จากร้านค้าไปยังหน้าโปรไฟล์ส่วนตัวเอง
หากต้องการใช้ฟีเจอร์ร้านค้าหรือเชื่อมต่อกับ Facebook Marketplace สินค้าของคุณจะต้องเป็นไปตามนโยบายการค้าของ Facebook และข้อกำหนดใน Facebook Seller Agreement
วิธีสร้างเพจธุรกิจ คือ ล็อกอิน Facebook แล้วไปที่ Meta Business จากนั้นเลือก “เริ่มต้นใช้งาน” และ “เพจ Facebook”

จากตรงนี้ คุณจะสามารถเพิ่มรูปภาพหน้าปก รูปโปรไฟล์ และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจของคุณได้ อย่าลืมว่าการกรอกข้อมูลในเพจให้ครบถ้วนและละเอียด จะช่วยให้เพจดูน่าเชื่อถือและเป็นมืออาชีพมากขึ้นสำหรับผู้ที่อาจกลายเป็นลูกค้า ดังนั้นพยายามอย่าปล่อยช่องว่างไว้
ข้อสำคัญ: หากคุณต้องการขายของใน Facebook ผ่านร้านค้า คุณจะต้องใช้เทมเพลต “Shopping” สำหรับเพจธุรกิจของคุณ คุณสามารถเปลี่ยนเทมเพลตของเพจได้หลังจากเพิ่มข้อมูลพื้นฐานของธุรกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว
🛒 มีเพจและแค็ตตาล็อกสำหรับร้านค้าอยู่แล้ว? ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีสิทธิ์ควบคุมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่ใช้จัดการร้านค้าอย่างเต็มที่ คุณยังต้องมีสิทธิ์ “จัดการ” (Manage permissions) ทั้งในเพจและแค็ตตาล็อก เพื่อให้ทุกอย่างทำงานได้อย่างราบรื่น
2. เพิ่มส่วนร้านค้า
ไปที่หน้าสร้างร้านค้าของคุณ (Create your shop) แล้วคลิกถัดไป (Next) หากคุณขายของบน Shopify อยู่แล้ว คุณสามารถสร้างร้านค้าใน Facebook ได้โดยการซิงก์สินค้าของคุณ คลิกที่ลิงก์ "Sync a partner platform" และทำตามขั้นตอนที่ระบบแนะนำเพื่อดำเนินการตั้งค่าให้เสร็จสมบูรณ์

3. เลือกวิธีการชำระเงิน
คุณมี 3 ตัวเลือก สำหรับการรับชำระเงินในร้านค้าบน Facebook
- ชำระเงินผ่านเว็บไซต์อื่น หากเลือกตัวเลือกนี้ ลูกค้าจะถูกพาไปยังเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของคุณเพื่อทำการชำระเงิน
- ชำระเงินผ่านการแชท ลูกค้าจะติดต่อคุณผ่าน Facebook Messenger หรือ WhatsApp เพื่อจัดการการชำระเงิน
- ชำระเงินบน Facebook ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงผ่าน Facebook (ตัวเลือกนี้ต้องใช้บัญชีธนาคารและที่อยู่ธุรกิจในสหรัฐอเมริกา)

- การให้ลูกค้าชำระเงินโดยตรงบน Facebook เป็นวิธีที่สะดวกและช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้ดี แต่ก็มีบางเรื่องที่ควรพิจารณา: คุณจะไม่สามารถใช้ฟีเจอร์การจัดส่งขั้นสูงของ Shopify ได้ เช่น อัตราค่าจัดส่งแบบคงที่ หรือการคำนวณค่าจัดส่งตามผู้ให้บริการขนส่ง
- ระบบชำระเงินของ Facebook จะคำนวณภาษีอัตโนมัติเอง และไม่รองรับการตั้งราคารวมภาษี
Meta จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการประมวลผลธุรกรรมด้วยบัตรเครดิตในอัตรามาตรฐาน 2.9% (หากร้านค้าบน Facebook ของคุณเชื่อมกับ Shopify ค่าธรรมเนียมจะถูกเรียกเก็บโดย Shopify โดยตรง)
4. เลือกช่องทางขายและบัญชี Business Manager
ถัดไป เลือกหน้าเพจที่คุณต้องการขายจากหรือสร้างหน้าใหม่ หากคุณวางแผนที่จะ ขายบน Instagram ให้ไปที่บัญชีธุรกิจ Instagram ของคุณและเลือกถัดไป

ในหน้าถัดไป ให้เลือกบัญชี Business Manager ของคุณ หรือสร้างบัญชีใหม่ จากนั้นคลิก “ถัดไป” (Next) เพื่อดำเนินการต่อ
5. เลือกแค็ตตาล็อกสินค้า
เลือกแค็ตตาล็อกที่คุณต้องการใช้กับร้านค้า แล้วคลิก “ถัดไป” (Next) เพื่อดำเนินการต่อ การใช้แค็ตตาล็อกจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนดไว้สำหรับร้านค้า
6. ตั้งเงื่อนไขการจัดส่งและการคืนสินค้า
ตัดสินใจว่าคุณจะจัดส่งสินค้าอย่างไร และระบุข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการคืนสินค้า กรอกตัวเลือกการจัดส่งของคุณ รวมถึง
- สถานที่ที่คุณจะจัดส่งไป
- ระยะเวลาในการจัดการ
- ยอดขั้นต่ำในตะกร้าสำหรับการจัดส่งฟรี
- ระยะเวลาในการจัดส่ง
- ระยะเวลาการคืนสินค้า
เพิ่มที่อยู่อีเมลบริการลูกค้าเพื่อให้คุณสามารถตอบคำถามและให้การสนับสนุนได้ คุณยังสามารถให้ผู้ซื้อสมัครสมาชิก รายชื่ออีเมล ของคุณที่หน้าชำระเงินหรือที่หน้าแรกของร้านค้าของคุณ
7. ส่งขออนุมัติร้านและตั้งค่าให้เสร็จสมบูรณ์
ตรวจสอบรายละเอียดร้านค้า อ่านและยอมรับข้อตกลงสำหรับผู้ขาย แล้วคลิก “เสร็จสิ้นการตั้งค่า” และเมื่อร้านค้าของคุณพร้อมแล้ว สิ่งต่อไปที่ควรทำคือ
- จัดการแค็ตตาล็อก เพิ่มสินค้าที่คุณต้องการขาย หากคุณเชื่อมร้าน Shopify เข้ากับ Facebook ระบบจะซิงก์สินค้าให้อัตโนมัติโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม
- สร้างคอลเลกชัน จัดกลุ่มสินค้าให้ง่ายต่อการเลือกดู ไม่ว่าจะตามหมวดหมู่สินค้า ตามฤดูกาล หรือธีมอื่นๆ ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ
- ปรับแต่งหน้าร้าน เปลี่ยนสีปุ่ม จัดวางคอลเลกชันเด่น และเลือกสินค้าที่อยากโชว์ไว้ด้านบนของร้าน
- โปรโมทร้าน ใช้เทคนิคการตลาดบน Facebook เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาช้อปกับคุณมากขึ้น
วิธีขายของใน Facebook Marketplace
การขายของใน Facebook Marketplace ทำได้ง่ายกว่าการตั้งร้านแบบ Facebook Shops แต่จะดูไม่เป็นทางการเท่า และคุณจะมีตัวเลือกในการปรับแต่งหน้าตาแบรนด์น้อยกว่า
ต่อไปนี้คือขั้นตอนเริ่มต้นขายของใน Facebook Marketplace
1.สร้างรายการสินค้าใน Marketplace
ล็อกอินเข้า Facebook แล้วคลิกปุ่ม Marketplace ที่เมนูด้านซ้าย จากนั้นเลือก “สร้างรายการใหม่” (Create New Listing)
2.เลือกสินค้าที่ต้องการขาย
เลือกสินค้าที่คุณต้องการลงขาย
3.กรอกข้อมูลสินค้าให้ครบถ้วน
อัปโหลดรูปสินค้าที่คมชัด ใส่คำอธิบายที่น่าสนใจ พร้อมระบุราคาสินค้า สภาพสินค้า และรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น รหัสสินค้า (SKU) หรือแท็กสินค้า เมื่อกรอกข้อมูลครบแล้ว ให้คลิก “ถัดไป” (Next)
4.ดูตัวอย่างรายการสินค้า และเข้าร่วมกลุ่ม
ในหน้าถัดไป คุณจะเห็นตัวอย่างสินค้าที่คุณลงขาย พร้อมรายชื่อกลุ่มท้องถิ่นที่คุณสามารถเข้าร่วมได้ แม้ไม่จำเป็นต้องเข้ากลุ่ม แต่ถ้าคุณเลือกเข้าร่วม คุณจะสามารถโพสต์สินค้าของคุณไปยังกลุ่มเหล่านั้นได้ ช่วยให้เข้าถึงผู้ซื้อในพื้นที่มากขึ้น และอาจช่วยเพิ่มยอดขายได้
5.เผยแพร่ลิสต์สินค้า
เมื่อคุณพอใจกับรายละเอียดทั้งหมดแล้ว ให้คลิก “เผยแพร่” (Publish) เพื่อเริ่มขายของใน Facebook Marketplace
เพิ่มการมองเห็นสินค้าใน Facebook Marketplace ด้วยโฆษณา
หากคุณต้องการให้มีคนเห็นสินค้าที่คุณลงขายใน Facebook Marketplace มากขึ้น คุณสามารถโปรโมตรายการขายได้โดยการสร้างโฆษณา Facebook สำหรับสินค้านั้น
เริ่มจากเข้าใช้บัญชี Facebook ของคุณตามปกติ
1. ค้นหาสินค้าที่คุณต้องการโปรโมต
จากหน้า Facebook ให้เลือก “Marketplace” ที่เมนูด้านซ้าย จากนั้นเลือก “บัญชีของคุณ” (Your Account)
ในหน้าบัญชีของคุณ ใต้หัวข้อ “รายการของคุณ” (Your Listings) ให้คลิก “โปรโมตรายการ” (Boost Listing) ตรงสินค้าที่คุณต้องการโปรโมต
2. ตั้งค่ารายละเอียดแคมเปญ
ในหน้าถัดไป คุณจะสามารถเลือกงบประมาณรายวัน ระยะเวลาแคมเปญ และกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาได้ จากนั้นจะมีตัวอย่างโฆษณา Facebook ของคุณแสดงให้ดู
3. เริ่มแคมเปญโฆษณา
ปรับแก้รายละเอียดต่างๆ ตามที่ต้องการ เมื่อพอใจกับรูปแบบแคมเปญแล้ว ให้คลิก “โปรโมตทันที” (Promote Now)
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโฆษณา Facebook
- วิธีลงโฆษณาบน Facebook คู่มือสำหรับมือใหม่
- Meta Pixel วิธีสร้างโฆษณา Facebook ให้ได้ Conversion มากขึ้น
- วิธีขยายผลโฆษณา Facebook โดยยังคงผลตอบแทนต่อโฆษณา (ROAS) ให้น่าสนใจ
- กลยุทธ์โฆษณา Facebook ที่ใช้ได้ผล
- เคล็ดลับการตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายในโฆษณา Facebook
วิธีขายของผ่านกลุ่มซื้อขายใน Facebook
ผู้ดูแลกลุ่ม Facebook สามารถเปิดใช้ฟีเจอร์ซื้อขายได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เปิดฟีเจอร์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มในระดับท้องถิ่น ที่สมาชิกอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น เมือง ตำบล หรือชุมชนใกล้เคียง นั่นเพราะการซื้อขายในกลุ่มเหล่านี้มักเป็นการตกลงกันโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
แม้ว่ากลุ่มซื้อขายจะถูกใช้โดยผู้ขายทั่วไปเป็นหลัก แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่อยากสร้างฐานลูกค้าในพื้นที่ คุณไม่สามารถตั้งระบบชำระเงินโดยตรงในหน้ากลุ่มได้ แต่สามารถใส่ลิงก์ให้ลูกค้าสั่งซื้อผ่าน Facebook Shop หรือเว็บไซต์ของคุณแทนได้
3 ขั้นตอนในการขายของผ่านกลุ่มซื้อขายบน Facebook
1. เข้าร่วมกลุ่มซื้อขาย
เลือกกลุ่มที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าที่คุณจะขายมากที่สุด หากต้องการหากลุ่มในพื้นที่ที่เปิดใช้ฟีเจอร์ซื้อขาย เพียงเข้าไปที่ Facebook > กลุ่ม แล้วค้นหาคำว่า “ซื้อขาย” หากคุณได้สร้างรายการสินค้าไว้ใน Marketplace แล้ว ระบบก็จะแนะนำรายชื่อกลุ่มซื้อขายในพื้นที่ให้ด้วย
2. สร้างรายการสินค้าที่จะขาย
ไปที่ “ขายสินค้า” (Sell Something) ที่ด้านบนของหน้ากลุ่ม จากตัวเลือกที่มี ให้เลือก “สินค้าเพื่อขาย” (Item for Sale) ในหน้าถัดไป คุณสามารถกรอกรายละเอียดสินค้าทั้งหมดได้ เช่น รูปภาพ คำอธิบายสินค้า และตำแหน่งที่คุณต้องการขายสินค้า ใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน จากนั้นคลิก “ถัดไป” (Next)
3. เผยแพร่รายการสินค้า
หลังจากกรอกรายละเอียดสินค้าแล้ว คุณจะเห็นตัวเลือก “เพิ่มรายการลงใน Marketplace” (Add Your Listing to Marketplace) หากคุณเลือก ตัวรายการของคุณจะปรากฏในฟีดของผู้ใช้งานที่ Facebook คาดว่าน่าจะสนใจสินค้าของคุณมากที่สุด นอกจากนี้คุณยังสามารถเข้าร่วมกลุ่มซื้อขายอื่นๆ และลงขายในกลุ่มเหล่านั้นได้อีกด้วย เมื่อเลือกกลุ่มที่ต้องการโพสต์เรียบร้อยแล้ว ให้คลิก “โพสต์” (Post)
วิธีเขียนลิสต์สินค้าให้ดึงดูดและขายได้จริง
การขายของใน Facebook Marketplace และ Facebook Shops ช่วยให้คุณเข้าถึงลูกค้าได้จำนวนมาก ทั้งในพื้นที่และต่างประเทศ สิ่งสำคัญคือคุณต้องมองว่ามันคือธุรกิจจริงจัง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จรู้ดีว่าการเขียนรายละเอียดสินค้าที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือมีความสำคัญแค่ไหน
ต่อไปนี้คือแนวทางการเขียนรายการขายสินค้าให้มีประสิทธิภาพบน Facebook
1. เขียนชื่อสินค้าให้น่าสนใจ
ชื่อสินค้าคือสิ่งแรกที่ผู้ซื้อมองเห็น
หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อที่กว้างหรือคลุมเครือ และเข้าใจได้ยาก บอกให้ชัดว่าสินค้าคืออะไร และมีจุดเด่นอะไร พยายามใช้คีย์เวิร์ดที่ลูกค้ามักจะค้นหา แต่ให้คงความกระชับและอ่านง่าย
เพื่อให้ผลลัพธ์ดีที่สุด ควรตั้งชื่อไม่เกิน 10 คำ เพื่อให้แสดงผลได้ครบในหน้ารายการของ Facebook Marketplace

2. เขียนคำอธิบายสินค้าให้ละเอียดและน่าสนใจ
เมื่อคุณดึงดูดผู้ใช้ Facebook ได้ด้วยชื่อสินค้าแล้ว ต่อไปคือการรักษาความสนใจของพวกเขาด้วยคำอธิบายที่โดนใจ
เน้นจุดเด่น ประโยชน์ใช้สอย และรายละเอียดเล็กๆ ที่ทำให้สินค้าของคุณแตกต่างจากคนอื่น
อย่าเขียนแค่ “เทียนนี้มีกลิ่นหอม” แต่ให้บรรยายให้เห็นภาพ เช่น “เปลี่ยนบรรยากาศบ้านคุณด้วยกลิ่นหอมผ่อนคลายของลาเวนเดอร์และคาโมมายล์ เทียนแฮนด์พอร์จากขี้ผึ้งถั่วเหลืองธรรมชาติ 100% เผาได้นานและสะอาดกว่า”
แบ่งข้อความออกเป็นหัวข้อย่อยหรือใช้สัญลักษณ์แสดงจุด (bullet points) สำหรับข้อมูลสำคัญ เช่น ขนาด วัสดุ และวิธีดูแลรักษา

3. ใช้ภาพถ่ายคุณภาพสูง
ภาพคือทุกอย่างบน Facebook ดังนั้นต้องมั่นใจว่ารูปถ่ายของคุณจะช่วยทำให้สินค้าดูน่าสนใจอย่างเต็มที่
ใช้แสงธรรมชาติที่สว่างและถ่ายจากหลายมุมมอง เพื่อแสดงรายละเอียดให้ชัด ถ่ายภาพโคลสอัพเพื่อโชว์พื้นผิวหรือจุดเด่น และถ่ายภาพแบบไลฟ์สไตล์เพื่อให้เห็นบริบทของการใช้งาน อย่าลืมแสดงสเกลหรือขนาดของสินค้า หากดูจากภาพแล้วยังไม่ชัดเจนว่ามันเล็กหรือใหญ่แค่ไหน
ถ้าเป็นไปได้ การถ่ายวิดีโอของสินค้าที่มีมิติก็ช่วยได้มาก หรือคุณอาจสร้างวิดีโอสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นการใช้งานจริง เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจคุณสมบัติและประโยชน์ของสินค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

4. ตั้งราคาสู้คู่แข่งให้ได้
ลองดูสินค้าที่คล้ายกันบน Facebook และแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อดูว่าสินค้าของคุณควรอยู่ในช่วงราคาไหน
ตั้งราคาให้สะท้อนถึงคุณค่าของสินค้า แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ หากคุณตั้งราคาสูงกว่าคนอื่นเล็กน้อย ให้เน้นจุดเด่นที่ทำให้สินค้าคุณคุ้มค่า เช่น งานฝีมือเฉพาะตัว หรือใช้วัสดุรักษ์โลก ในทางกลับกัน หากคุณตั้งราคาต่ำกว่า อย่าลืมทำให้ลูกค้ามองว่าสินค้ายังมีคุณภาพ เพราะบางครั้งราคาที่ดูดีเกินจริงอาจทำให้คนลังเล
ทำความเข้าใจกลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า
ราคาสินค้าไม่ได้แค่กำหนดว่าคุณจะได้กำไรเท่าไรต่อชิ้น แต่ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และคุณค่าที่ลูกค้ารับรู้
ก่อนจะตัดสินใจตั้งราคา ควรดูภาพรวมของตลาด Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีการแข่งขันสูง รวมทั้งมีทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ขายทั่วไป และแบรนด์ใหญ่ ๆ แข่งขันกันดึงความสนใจลูกค้า นั่นหมายความว่าราคาของคุณควรดึงดูดผู้ซื้อได้ และยังสะท้อนคุณค่าของสินค้าไปพร้อมกัน
ลองสำรวจรายการสินค้าที่ใกล้เคียง เพื่อดูว่าสินค้าประเภทเดียวกันขายกันในช่วงราคาไหน พิจารณาทั้งในกลุ่มตลาดของคุณและอุตสาหกรรมที่กว้างขึ้น ทั้งใน Facebook และแพลตฟอร์มอื่นๆ ขณะสำรวจ ให้สังเกตเรื่องวัสดุ ความประณีต และตัวเลือกการจัดส่งด้วย
มีรูปแบบราคาที่เห็นซ้ำๆ หรือไม่ ที่อาจช่วยให้คุณวางแนวทางได้? ถ้าสินค้าคุณมีจุดเด่นเฉพาะ เช่น งานแฮนด์เมดหรือวัสดุรักษ์โลก คุณอาจตั้งราคาพรีเมียมได้
ในทางกลับกัน ถ้าคุณเน้นกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องงบประมาณ กลยุทธ์ของคุณอาจเน้นให้คุ้มค่าที่สุดในราคาที่จับต้องได้
แต่อย่าลืมว่า การตั้งราคาถูกอาจช่วยดึงดูดความสนใจได้ก็จริง แต่ก็อาจทำให้ลูกค้ามองว่าสินค้าไม่มีคุณภาพ ดังนั้นควรสร้างสมดุลระหว่าง “ความคุ้มค่า” และ “ภาพลักษณ์ของคุณภาพ” ในรายการสินค้าของคุณเสมอ
ตัวอย่างกลยุทธ์การตั้งราคาสินค้าบน Facebook Marketplace และแพลตฟอร์มอื่น ๆ มีดังนี้
ราคาที่สู้คู่แข่งได้
การตั้งราคาแบบที่สู้คู่แข่งได้นี้ หมายถึง การตั้งราคาสินค้าให้อยู่ในช่วงเดียวกับสินค้าอื่นๆ ที่คล้ายกันบน Facebook และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ศึกษาสถิติและข้อมูลใน Facebook พร้อมทั้งดูราคาคู่แข่ง เพื่อหาราคาเฉลี่ยที่เหมาะสม โดยไม่ตั้งต่ำเกินไปจนทำให้สินค้าดูไม่มีมูลค่า
ราคาต้นทุนบวกกำไร
คำนวณต้นทุนทั้งหมด เช่น ค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าจัดส่ง แล้วบวกกำไรเพิ่มเข้าไป วิธีการตั้งราคาทุนบวกกำไรนี้เหมาะกับสินค้าที่ทำเองหรือสินค้าที่มีต้นทุนแรงงานสูง เพราะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีกำไรในทุกคำสั่งซื้อ
ตั้งราคาตามเวลูแบรนด์
ถ้าสินค้าของคุณมีจุดเด่นเฉพาะ เช่น ใช้วัสดุรักษ์โลก ดีไซน์เฉพาะตัว หรือสามารถสั่งทำพิเศษได้ ลองใช้วิธีตั้งราคาตามคุณค่า วิธีนี้เน้นว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณยินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพราะเห็นถึงประโยชน์ ไม่ใช่แค่คิดจากต้นทุน
การตั้งราคาแบบแพ็กคู่/ชุด
นำสินค้าหลายรายการมาขายรวมกันในราคาพิเศษ เช่น ขายเซ็ตสกินแคร์ 3 ชิ้นในราคาคุ้มกว่าแยกขาย จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้ความคุ้มค่ามากขึ้น
การตั้งราคาเชิงจิตวิทยา
การตั้งราคาแบบแพ็กคู่ก็ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของราคาเชิงจิตวิทยา ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อย คือการตั้งราคาลงท้ายด้วย .99 เช่น 699.99 บาท แทนที่จะเป็น 700 บาท แม้ส่วนต่างจะน้อยมาก แต่ก็ช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าราคาถูกลง
ตั้งราคาแบบมีจุดเปรียบเทียบ
แสดงราคาปกติควบคู่กับราคาลด เพื่อให้ลูกค้าเห็นความคุ้มค่า เช่น เขียนว่า “จาก 1,080 บาท เหลือเพียง 720 บาท” วิธีนี้ช่วยสร้างจุดเปรียบเทียบในใจลูกค้าและเพิ่มแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อ
นโยบาย Facebook Marketplace และข้อกำหนดที่ควรปฏิบัติตาม
Facebook Marketplace มีกฎชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถขายได้หรือไม่ได้ วิธีจัดการรายการสินค้า และแนวทางที่ผู้ขายควรปฏิบัติกับผู้ซื้อบนแพลตฟอร์ม
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รายการสินค้าของคุณถูกลบโดย Facebook ควรปฏิบัติตามแนวทางดังนี้:
ปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับผู้ขาย
- รายการสินค้าที่คุณลงขายใน Facebook Marketplace ต้องเป็น “สินค้า” เท่านั้น ไม่ใช่ “บริการ” หรือโพสต์ตามหาสินค้า
- อย่าใช้ Facebook Marketplace ในการดำเนินกิจกรรมที่อาจเข้าข่ายฉ้อโกงหรือหลอกลวง
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสินค้าที่คุณขายเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายบน Facebook Marketplace ห้ามลงขายสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือสินค้าที่ขัดต่อเงื่อนไขการให้บริการของ Facebook เช่น อาวุธ สัตว์แปลก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสินค้าสำหรับผู้ใหญ่
- ห้ามใส่ถ้อยคำหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือมีเนื้อหาที่รุนแรงในรายการสินค้า
แสดงข้อมูลสินค้าอย่างตรงไปตรงมา
- อย่าใช้ถ้อยคำที่ชวนให้เข้าใจผิดหรือหลอกลวงในการลงขายสินค้าใน Facebook Marketplace ข้อมูลทุกอย่างควรถูกต้องและโปร่งใส
- อย่าใช้รูปภาพของสินค้าที่คุณไม่ได้ขายจริง
- อย่าลงขายสินค้าลอกเลียนแบบหรือสินค้าที่ถูกขโมย
- อย่าใช้ระบบอัตโนมัติในการลงสินค้า หากระบบนั้นอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการลงรายการ
ปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ
- อย่าโพสต์ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ลงในรายการสินค้าบน Facebook Marketplace เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล
หากคุณต้องการเข้าใจนโยบายเหล่านี้อย่างครบถ้วน ควรศึกษามาตรฐานชุมชน (Community Standards) และนโยบายการค้า Facebook ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่แนวทางการสื่อสารกับลูกค้า ไปจนถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับรูปภาพและคำอธิบายสินค้า
🎯 ใช้โฆษณาแบบชำระเงินเพื่อโปรโมตสินค้าอยู่หรือไม่? อย่าลืมอ่านนโยบายโฆษณาของ Facebook เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โฆษณาถูกปฏิเสธหรือบัญชีถูกระงับ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการขายของใน Facebook
สามารถใช้วิธีชำระเงินแบบไหนได้บ้าง เมื่อลงขายของใน Facebook?
วิธีชำระเงินจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่คุณอยู่ และว่าคุณใช้ระบบชำระเงินของ Facebook หรือไม่ สำหรับการขายแบบพบกันในพื้นที่ (Local) บน Facebook Marketplace ผู้ขายส่วนใหญ่มักใช้เงินสด หรือแอปชำระเงิน เช่น PromptPay, TrueMoney Wallet หรือ PayPal ส่วนถ้าคุณขายผ่าน Facebook Shops ที่เปิดใช้งานระบบชำระเงิน ลูกค้าจะสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ PayPal ได้โดยตรงบนแพลตฟอร์ม
ขายของใน Facebook ต้องเสียเงินหรือไม่?
การขายสินค้าใน Facebook สามารถทำได้ฟรี หากคุณลงขายแบบบุคคลทั่วไปใน Facebook Marketplace
Facebook มีค่าธรรมเนียมในการขายของเท่าไหร่?
ค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับรูปแบบที่คุณใช้ หากขายผ่าน Facebook Marketplace แบบรายบุคคล จะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าคุณใช้ Facebook Shops เพื่อขายแบบร้านค้าออนไลน์ จะมีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อการจัดส่ง หรือคิดเป็นอัตราคงที่ประมาณ 14 บาท หากสินค้ามีมูลค่าไม่เกิน 290 บาท
จะรับเงินจากการขายสินค้าบน Facebook ได้ยังไง?
คุณต้องตั้งค่าช่องทางการรับเงิน สำหรับ Facebook Marketplace การชำระเงินมักเกิดขึ้นนอกระบบ โดยผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเอง ส่วนใน Facebook Shops คุณต้องตั้งค่า Facebook Pay หรือเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการรับชำระเงินที่รองรับ
เงื่อนไขในการขายของใน Facebook มีอะไรบ้าง?
คุณต้องมีบัญชี Facebook ที่ใช้งานอยู่ อายุอย่างน้อย 18 ปี และปฏิบัติตามนโยบายการค้าของ Facebook (Commerce Policies) หากคุณตั้งร้านค้า Facebook สำหรับธุรกิจ อาจต้องมีเอกสารเพิ่มเติม เช่น หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเพจธุรกิจที่ผ่านการยืนยัน