คุณมีสินค้าที่ดีที่สุดในตลาด ดีไซน์แบรนด์ก็เป๊ะ ช่องทางโซเชียลก็พร้อมใช้งาน แล้วแบบนี้จะเปิดร้านออนไลน์ได้เลยหรือยัง?
ช้าก่อน! หลายคนมักตื่นเต้นกับการเปิดตัวแบรนด์ จนเผลอมองข้ามขั้นตอนสำคัญบางอย่างไป
แม้เว็บไซต์และแบรนด์จะดูเรียบร้อยแค่ไหน แต่ยังมีเช็คลิสต์อีกหลายรายการที่ช่วยให้การเปิดร้านราบรื่น เช่น หน้าโปรดักต์ตั้งค่า SEO แล้วหรือยัง? วางแผนการตลาดไว้โปรโมตร้านหรือยัง? มีหน้า FAQ กับข้อมูลติดต่อในเว็บหรือเปล่า?
ก่อนที่ร้านจะออนไลน์จริง ลองกลับมาเช็กให้ครบกับรายการเล็กๆ ที่หลายคนมองข้าม แต่สร้างความแตกต่างระหว่างประสบการณ์แย่กับประสบการณ์ที่ลูกค้าประทับใจได้
เช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์
- เลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
- ตั้งชื่อโดเมนร้าน
- เลือกผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง
- จัดระบบหลังร้านให้เรียบร้อย
- ขอใบอนุญาตธุรกิจ
- เตรียมเงินทุนให้พร้อม
- ยืนยันข้อมูลการเรียกเก็บเงิน
- ตั้งค่าภาษีและค่าจัดส่ง
- วางระบบจัดส่งสินค้า
- สร้างหน้าเว็บที่จำเป็นให้ครบ
- ตรวจสอบคอนเทนท์
- ทบทวนพื้นฐาน SEO อีคอมเมิร์ซ
- ปรับแต่งรูปภาพให้เหมาะกับเว็บไซต์
- ตรวจสอบอีเมลอัตโนมัติ
- ทดสอบขั้นตอนการชำระเงิน
- เพิ่มช่องทางติดต่อสำหรับลูกค้า
- ตั้งค่าช่องทางการขายต่างๆ
- ติดตั้งแอปและระบบเสริมที่จำเป็น
- ตั้งค่าเครื่องมือวิเคราะห์และติดตามผล
- วางแผนการตลาดก่อนเปิดร้าน
1. เลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
เช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์ข้อแรก ถ้าจะขายของออนไลน์ให้ได้ดี สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพราะมันคือระบบหลักที่ช่วยให้คุณแสดงสินค้า รับชำระเงิน และจัดการออเดอร์ได้ครบจบในที่เดียว การเลือกให้ดีตั้งแต่เริ่มช่วยประหยัดทั้งเวลาและเงิน เพราะถ้าต้องย้ายแพลตฟอร์มทีหลัง อาจต้องสร้างร้านใหม่ทั้งหมดเลย
ก่อนเลือกแพลตฟอร์ม ลองดูปัจจัยเหล่านี้ให้รอบด้าน
- งบประมาณรายเดือนที่มี
- ความพร้อมในการจัดการด้านเทคนิค
- ฟีเจอร์ที่ต้องใช้ เช่น ระบบจัดการสต๊อกหรือใบปะหน้าจัดส่ง
- วิธีรับชำระเงินที่ต้องการ
- จำนวนสินค้าที่จะขาย
- ต้องการปรับแต่งหน้าร้านมากน้อยแค่ไหน
Shopify เป็นตัวเลือกที่เหมาะมาก เพราะเครื่องมือสร้างร้านใช้ง่ายมาก แค่ลากแล้ววาง ไม่ต้องมีพื้นฐานโค้ดหรือดีไซน์ก็เริ่มได้เลย Shopify ยังช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย ระบบรับชำระเงิน และยังทำหน้าที่เป็นระบบจัดการเนื้อหา (CMS) ให้คุณลงบทความหรือเนื้อหาอื่นๆ ได้อย่างมืออาชีพ
คุณยังสามารถเชื่อมต่อกับแอปต่างๆ ผ่าน Shopify App Store เพื่อเพิ่มฟีเจอร์ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเรื่องการตลาด ระบบลูกค้า หรือจัดส่งสินค้า
ก่อนเลือกแพลตฟอร์ม ลองใช้ฟรีดูสักรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจัดการสินค้าและออเดอร์ได้ง่ายกับระบบที่ใช้งาน
2. ตั้งชื่อโดเมนร้าน
ชื่อโดเมนที่ตั้งเองจะช่วยให้ร้านของคุณดูเป็นมืออาชีพ และทำให้ลูกค้าจดจำเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นขั้นตอนนี้ของเช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์ คือเริ่มจากค้นหาว่าชื่อธุรกิจของคุณยังว่างหรือไม่ ถ้าว่าง และไม่มีใครจดทะเบียนไว้ก่อน คุณสามารถซื้อโดเมนผ่าน Shopify ได้ทันที
ถ้าชื่อที่อยากใช้มีคนใช้ไปแล้ว ก็ยังมีทางเลือกอื่น ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น แบรนด์ Pepper ใช้ชื่อโดเมนว่า wearpepper.com แทน
นอกจากนี้ยังลองเล่นกับโดเมนระดับสูง (TLD) ได้ เช่น .com, .net, .shop, .store ฯลฯ เลือกให้เข้ากับแนวของร้านคุณก็ช่วยเพิ่มความโดดเด่นได้อีกทาง

3. เลือกผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง
เว็บโฮสติ้งคือสิ่งที่ทำให้เว็บไซต์ของคุณเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตได้จริง ผู้ให้บริการที่ดีมีผลต่อความเร็ว ความปลอดภัย และความเสถียรของเว็บไซต์ สำหรับ Shopify คุณไม่ต้องเสียเวลาหาโฮสติ้งเพิ่ม เพราะมีรวมไว้ในทุกแพลนเรียบร้อยแล้ว
ทุกแพลนของ Shopify มาพร้อมกับ
- แบนด์วิดธ์ไม่จำกัด รองรับปริมาณทราฟฟิกได้แบบไม่มีสะดุด
- เซิร์ฟเวอร์เร็วแรง พร้อมระบบ CDN ระดับโลกจาก Fastly
- ความปลอดภัยตามมาตรฐาน PCI DSS Level 1 เพื่อปกป้องข้อมูลลูกค้า
- ระบบอัปเดตและอัปเกรดอัตโนมัติ ไม่ต้องจัดการเอง
- ส่งต่ออีเมลไม่จำกัด สำหรับโดเมนธุรกิจของคุณ ให้ดูเป็นมืออาชีพ
4. จัดระบบหลังบ้านให้เรียบร้อย
การเปิดร้านออนไลน์ต้องบริหารเงิน สต็อก และเอกสารต่างๆ ให้ดี ถ้าคุณเตรียมระบบเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า จะช่วยลดปัญหาส่งของล่าช้า สินค้าหมดโดยไม่รู้ตัว หรือการบริการลูกค้าที่ไม่ทันใจ
เช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์ช่วงนี้ควรเริ่มต้นจากเรื่องพื้นฐานอย่างการเปิดบัญชีธนาคารแยกสำหรับธุรกิจ และเลือกใช้ซอฟต์แวร์บัญชี เช่น QuickBooks หรือ Xero แล้วเชื่อมกับร้าน Shopify เพื่อช่วยติดตามรายรับรายจ่าย และทำให้การยื่นภาษีในภายหลังง่ายขึ้น
สำหรับการจัดการสต็อกสินค้า Shopify ก็มีระบบจัดการสต็อกมาให้ในตัว ไม่ว่าลูกค้าจะสั่งซื้อเมื่อไหร่ ระบบจะอัปเดตจำนวนสินค้าให้อัตโนมัติ และหากของหมด ระบบสามารถเปลี่ยนสถานะสินค้าเป็น “สินค้าหมด” ได้ทันที
💡 โปรทิป: จดขั้นตอนการทำงานของคุณไว้ เช่น การจัดการออเดอร์หรือการตอบแชทลูกค้า เริ่มจากสิ่งง่ายๆ เช่น เมื่อมีออเดอร์เข้า ตรวจข้อมูลออเดอร์ → หยิบสินค้า → แพ็กของ → สร้างใบส่งของ → กดจัดส่งในระบบ
คุณสามารถพัฒนาระบบเหล่านี้ได้ตามการเติบโตของร้าน เป้าหมายคือมีระบบที่จัดการง่ายตั้งแต่วันแรก เพื่อให้คุณมีเวลามุ่งไปที่การขายมากกว่าการแก้ปัญหา
5. ขอใบอนุญาตธุรกิจ
ก่อนจะเริ่มขายสินค้า คุณต้องจัดเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย ทั้งเรื่องใบอนุญาตและประกันต่างๆ
ในหลายพื้นที่ มักจะต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างน้อยหนึ่งใบ นอกจากนี้อาจต้องมีใบอนุญาตเฉพาะสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น อาหาร เครื่องสำอาง หรือแอลกอฮอล์ แนะนำให้หาข้อมูลและดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะบางอย่างใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้รับอนุมัติ และอย่าลืมตรวจสอบว่าธุรกิจคุณต้องมีประกันประเภท eCommerce ด้วยหรือไม่
ลองค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่คุณจะขายสินค้า เช่น หากคุณขายสินค้าข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศ ก็ต้องเข้าใจข้อกำหนดด้านภาษีในแต่ละพื้นที่ด้วย แม้ว่าระบบของ Shopify จะช่วยคำนวณภาษีให้ได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นหน้าที่ของคุณในการถือใบอนุญาตที่ถูกต้อง
6. เตรียมเงินทุนให้พร้อม
คุณอาจต้องใช้เงินสำหรับซื้อสินค้า ทำการตลาด และตั้งค่าร้านพื้นฐาน แม้จะเริ่มจากขนาดเล็กได้ แต่การมีเงินทุนเพียงพอจะช่วยให้คุณเติบโตไวขึ้น และคว้าโอกาสสำคัญ เช่น การซื้อสต๊อกในราคาส่ง
Shopify Capital เป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าการขอกู้แบบเดิม เพราะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของร้าน ไม่ใช่เครดิตส่วนตัว และไม่มีผลต่อคะแนนเครดิตด้วย หากคุณได้รับอนุมัติ เงินทุนอาจเข้าบัญชีภายใน 2 วันทำการ และวงเงินเสนอสูงสุดถึงประมาณ 72 ล้านบาท*
ระบบชำระคืนก็เรียบง่าย โดยจะหักเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรายวันของคุณโดยอัตโนมัติ หมายความว่า วันไหนขายได้น้อยก็จ่ายน้อย วันไหนขายดีคุณก็จ่ายคืนมากขึ้นตามสัดส่วน
7. ยืนยันข้อมูลการเรียกเก็บเงิน
ก่อนเปิดร้านอย่างเป็นทางการ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลเรียกเก็บเงินให้เรียบร้อย หากคุณใช้แพลนทดลองฟรีจนครบแล้ว ก็ถึงเวลาเลือกแพลนที่เหมาะกับร้าน แล้วตั้งค่าข้อมูลเรียกเก็บเงินของร้านให้ถูกต้อง เพื่อให้ระบบสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ตรงเวลา และไม่มีปัญหาใด ๆ มาขัดจังหวะการเปิดร้านของคุณ
8. ตั้งค่าภาษีและค่าจัดส่ง
หนึ่งในเช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์ที่สำคัญ คือตรวจสอบให้แน่ใจว่าอัตราค่าจัดส่งที่ตั้งไว้เหมาะสมกับสินค้าที่คุณขายและพื้นที่ที่จัดส่ง หากตั้งค่าผิด อาจทำให้คุณต้องควักส่วนต่างค่าขนส่งจากกำไร
เรื่องภาษีก็สำคัญไม่แพ้กัน ขึ้นอยู่กับว่าร้านของคุณและลูกค้าอยู่ที่ไหน คุณอาจต้องจัดเก็บภาษีการขาย และยื่นให้กับภาครัฐตามช่วงเวลาที่กำหนด หากคุณขายในหลายจังหวัดหรือหลายประเทศ การปรึกษานักบัญชีจะช่วยให้คุณตั้งค่าถูกต้องตั้งแต่แรก
9. วางระบบจัดส่งสินค้า
Fulfillment หรือการจัดส่งสินค้า หมายถึงขั้นตอนที่คุณส่งสินค้าจากร้านถึงมือลูกค้า
คุณสามารถเลือกวิธีจัดส่งได้หลายแบบ:
-
จัดส่งเอง: เก็บสต็อก แพ็กของ และจัดส่งด้วยตัวเอง
-
ดรอปชิปปิ้ง: จับมือกับซัพพลายเออร์ให้พวกเขาจัดส่งสินค้าตรงถึงลูกค้า
- ใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอก (3PL): ให้พาร์ตเนอร์ดูแลการเก็บ แพ็ก และจัดส่งทั้งหมดให้
3PL หลายเจ้าจัดส่งได้เร็วกว่า โดยเฉพาะ Shopify Fulfillment Network ที่ร่วมกับ Flexport เพื่อส่งของถึงลูกค้าในอเมริกาภายใน 2–3 วัน เหมาะกับร้านที่เริ่มโตและอยากโฟกัสเรื่องอื่นมากกว่ามาแพ็กกล่องเอง
คุณสามารถเปลี่ยนรูปแบบ fulfillment ได้เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ร้านหลายแห่งเริ่มจากจัดส่งเอง แล้วค่อยขยับไปใช้ 3PL ทีหลังเมื่อยอดขายเริ่มเยอะ
10. สร้างหน้าเว็บที่จำเป็นให้ครบ
ความน่าเชื่อถือของร้านเริ่มต้นจากหน้าเว็บที่ลูกค้า "คาดหวังจะเห็น" และใช้เพื่อประเมินว่าธุรกิจของคุณจริงจังแค่ไหน หน้านี้ยังช่วยให้ลูกค้าเข้าใจว่าคุณเป็นใคร ขายอะไร มีนโยบายแบบไหน และติดต่อได้จากที่ไหน
จากผลการวิจัย หน้าสำคัญที่ร้านออนไลน์ควรมีใน sitemap ได้แก่
- หน้าหลัก
- หน้าติดต่อ (Contact)
- หน้าเกี่ยวกับร้าน
- หน้าคำถามที่พบบ่อย
- หน้านโยบายการจัดส่งและคืนสินค้า
- หน้าข้อกำหนดการใช้งานและนโยบายความเป็นส่วนตัว
อย่าลืมหน้าหมวดหมู่สินค้า หน้ารายละเอียดสินค้า หน้าโปรโมชั่น หน้าเช็คเอาท์และตะกร้าสินค้า เพราะทุกจุดที่ลูกค้าเจอสามารถส่งผลต่อความรู้สึกและภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ทั้งหมด
💡 ทิป: ใช้หลักการออกแบบด้านจิตวิทยาเพื่อลดภาระทางความคิด เช่น วางเมนูในตำแหน่งที่ลูกค้า “คาดว่าจะเจอ” อย่างเมนูด้านบนหรือข้อมูลติดต่อไว้ที่ท้ายเว็บไซต์
หน้าหลัก
หน้าหลักถือเป็นหนึ่งในหน้าสำคัญที่สุดของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ลูกค้าหลายคนมักจะเข้ามาที่หน้านี้เป็นจุดแรก หรืออย่างน้อยก็เป็นหน้าที่สองหลังจากคลิกลิงก์จากที่อื่น ลองนึกภาพว่าหน้าหลักคือ "เดตแรก" กับลูกค้าก็ว่าได้ เป็นโอกาสในการสร้างความประทับใจแรกพบและถ่ายทอดตัวตนของแบรนด์
นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการพาผู้ใช้งานไปยังหน้าสำคัญอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการออกแบบระบบนำทางให้ชัดเจนและใส่ CTA (คำกระตุ้นการตัดสินใจ) ที่แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรเชื่อมโยงจากหน้าหลักไปยังหน้าหมวดหมู่สินค้า หน้ารายละเอียดสินค้า และโปรโมชั่นต่าง ๆ อย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น หน้าโฮมของ Personal Fav มีการใส่คำกระตุ้นที่โดดเด่น ภาพที่สะท้อนตัวตนแบรนด์ได้ดี และเส้นทางการใช้งานที่ง่ายสำหรับการไปยังหน้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์

หน้าแรกสำหรับแบรนด์สุขภาพทางเพศ Personal Fav
หน้าติดต่อ (Contact)
หน้าติดต่อ เป็นสัญญาณบอกลูกค้าว่าร้านนี้มีตัวตนจริง ติดต่อได้ และมีคนจริงๆ อยู่เบื้องหลังแบรนด์ บนหน้านี้ ควรมีช่องทางในการติดต่อ เช่น เบอร์โทร อีเมล ลิงก์โซเชียลมีเดีย ที่อยู่หน้าร้าน (ถ้ามี) พร้อมทั้งแจ้งเวลาที่ลูกค้าควรคาดหวังว่าจะได้รับการตอบกลับ
💡 ทิป: คุณสามารถเพิ่มไลฟ์แชทหรือ AI แชทบอทผ่านไอคอนเล็กๆ ที่มักอยู่มุมล่างขวาของเว็บไซต์ทุกหน้า เป็นวิธีที่รวดเร็วให้ลูกค้าติดต่อโดยไม่ต้องเข้ามาที่หน้าติดต่อโดยตรง
หน้าเกี่ยวกับร้าน
หน้าเกี่ยวกับร้านคือจุดที่ลูกค้าใหม่เข้ามาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับแบรนด์ ภารกิจของร้าน และผู้ที่อยู่เบื้องหลังสินค้า เจ้าของร้านสามารถเลือกวิธีการนำเสนอหน้านี้ได้หลายแบบเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยพิจารณาจากเหตุผลหลักที่คนมักเข้าไปดูหน้านี้:
-
เล่าเรื่องราว: นักช้อปมักต้องการรู้ว่าธุรกิจนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน หน้านี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการแสดงว่าร้านของคุณมีอยู่จริงและมีคนจริงๆ คอยดูแล เล่าเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ แนะนำทีมงาน ขั้นตอนการทำงาน หรือแม้แต่พื้นที่ที่คุณดำเนินกิจการ
- เชื่อมโยงผ่านค่านิยมร่วมกัน: ลูกค้าหลายคนใส่ใจในพันธกิจของธุรกิจ และต้องการรู้ว่าธุรกิจนั้นมีจุดยืนหรือค่านิยมที่สอดคล้องกับตนหรือไม่ การแบ่งปันจุดประสงค์ หลักการ ภารกิจ และเหตุผลเบื้องหลังของแบรนด์ สามารถช่วยสร้างฐานลูกค้าที่สนับสนุนสิ่งเดียวกันได้
Leath ใช้ภาพเจ้าของธุรกิจในการสื่อสาร ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจว่ามีคนจริงอยู่เบื้องหลังแบรนด์ และยังใช้พลังของการเล่าเรื่องแบรนด์เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้เยี่ยมชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หน้าเกี่ยวกับเราสำหรับแบรนด์การทำสวนที่กินได้ของแบรนด์ Leath
หน้าคำถามที่พบบ่อย
ก่อนที่ร้านจะเปิดอย่างเป็นทางการ คุณอาจยังไม่สามารถคาดเดาคำถามทั้งหมดจากลูกค้าได้ เพราะฉะนั้น หน้านี้จะค่อยๆ พัฒนาไปตามเวลาจากการตอบคำถามจริงผ่านการบริการลูกค้า การสร้างหน้า FAQ ที่ดี เริ่มจากดูว่าคู่แข่งตอบคำถามอะไรบ้างในเว็บไซต์ของพวกเขา หรือจะใช้เครื่องมือ AI ช่วยสร้างคำถาม-คำตอบก็ได้เช่นกัน
โดยทั่วไป ลูกค้ามักจะมีคำถามเกี่ยวกับการจัดส่ง นโยบายการคืนสินค้า ขนาดสินค้า การรับประกัน และวิธีดูแลผลิตภัณฑ์ Starface เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมีหน้า FAQ แบบค้นหาได้ที่ช่วยให้ผู้ใช้เลือกดูหัวข้อ และเห็นคำถาม-คำตอบที่เกี่ยวข้องได้ง่ายๆ

หน้าคำถามที่พบบ่อยสำหรับแบรนด์แผ่นสิว Starface
หน้านโยบายการจัดส่งและคืนสินค้า
หน้านี้มีความสำคัญเพราะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจสิ่งที่จะได้รับในกระบวนการจัดส่งและการคืนสินค้า อัตราการคืนสินค้าเฉลี่ยในอีคอมเมิร์ซปี 2024 อยู่ที่ 16.9% และนโยบายที่ดีสามารถช่วยเพิ่มอัตราการสั่งซื้อได้
ควรอธิบายให้ชัดเจนว่า
- ลูกค้าต้องจ่ายอะไรบ้าง
- ระยะเวลาดำเนินการจัดส่งและเวลาที่จะได้รับสินค้า
- ใครเป็นผู้รับผิดชอบภาษีนำเข้าและภาษีอื่นๆ
- ลูกค้าต้องทำอย่างไรหากต้องการขอคืนเงิน
หน้าข้อกำหนดการใช้งานและนโยบายความเป็นส่วนตัว
หน้าข้อกำหนดการใช้งานและนโยบายความเป็นส่วนตัวเป็นหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางกฎหมายที่ใช้คุ้มครองทั้งธุรกิจของคุณและสิทธิของลูกค้า โดยเนื้อหาจะระบุถึงความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายระหว่างแบรนด์และลูกค้า
ตัวอย่างจาก Lucky Lad แสดงให้เห็นว่าหน้าเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีดีไซน์สร้างสรรค์มากมาย แต่ควรนำเสนอข้อมูลให้ชัดเจนและใช้งานง่าย

หน้าข้อกำหนดการใช้งานของแบรนด์ลูกกวาดแก้แฮงค์ Lucky Lad
💡 เคล็ดลับดีๆ : ใช้เครื่องมือฟรีของ Shopify เพื่อสร้างหน้านโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดการให้บริการได้ง่ายๆ
11. ตรวจสอบคอนเทนท์
การตรวจทานเนื้อหาเป็นขั้นตอนสำคัญของเช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์ ไม่ใช่แค่เขียนให้จบ แต่ต้องกลับมาอ่านใหม่ทุกคำ หรือให้คนอื่นช่วยตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง เพื่อความแม่นยำในคำอธิบายสินค้า คำโฆษณาหน้าหลัก ข้อความบนปุ่มต่างๆ ไปจนถึงข้อมูลท้ายเว็บไซต์ ทั้งเรื่องไวยากรณ์ การสะกดคำ และความถูกต้อง
สิ่งสำคัญที่สุดคือความสม่ำเสมอของเนื้อหา ควรใช้คู่มือสไตล์การเขียน ไม่ว่าจะเป็น MLA, AP หรือแนวทางเฉพาะของแบรนด์คุณ การปรับข้อความเพียงเล็กน้อยก็อาจช่วยเพิ่มยอดขายเฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อได้เช่นกัน
ในด้านเทคนิค ให้ตรวจสอบลิงก์ที่เสีย (broken links) ข้อผิดพลาด 404 รวมถึงปัญหาการแสดงภาพและการตอบสนองบนมือถือ ลองเปิดเว็บไซต์บนเบราว์เซอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อดูว่าแต่ละปัญหาเกิดขึ้นทั่วไปหรือเฉพาะเจาะจงกับบางเครื่อง
ตัวอย่างจาก Wild (แบรนด์ระงับกลิ่นกาย) แสดงให้เห็นว่าหน้า 404 ก็สามารถออกแบบให้สนุกและน่าจดจำได้เช่นกัน

แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลแบบยั่งยืนอย่าง Wild จะรีไดเรกต์ลิงก์ที่เสียไปยังหน้า 404 แบบมีแบรนด์ของตนเอง
💡 ทิปส์: ลองจ้าง Shopify Experts มาช่วยตั้งค่าร้าน Shopify และทดสอบข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ผ่านการตรวจสอบจาก Shopify แล้ว และสามารถให้คำแนะนำทางเทคนิคในส่วนที่คุณอาจไม่ถนัดได้
12. ทบทวนพื้นฐาน SEO อีคอมเมิร์ซ
หากคุณเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมทำให้เว็บไซต์ของคุณปรากฏในผลการค้นหาเมื่อลูกค้าค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของคุณ ถึงแม้โซเชียลมีเดียจะกลายเป็นช่องทางหลักในการค้นพบสินค้า แต่ Google ก็ยังคงครองส่วนแบ่งกว่า 40% ของการค้นหาอยู่ เทคนิค SEO (Search Engine Optimization) จะช่วยให้ร้านของคุณได้ทราฟฟิกคุณภาพดีแบบสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือ ฟรี
เริ่มต้นจากการวิจัยคีย์เวิร์ด แล้วใช้เทคนิค SEO เหล่านี้เพื่อให้ร้านออนไลน์ติดอันดับบนเครื่องมือค้นหา:
-
วิจัยคีย์เวิร์ด: หาคำค้นหายอดนิยมและเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า
-
ปรับแต่งด้วยคีย์เวิร์ด: ใช้คำค้นหาและคำที่เกี่ยวข้องในคำบรรยายสินค้า คำอธิบายหมวดหมู่ หัวข้อบนหน้าเว็บ คอนเทนต์ URL เมตาไตเติล แท็ก alt และชื่อไฟล์ต่างๆ
-
ใช้ schema markup: เพิ่มโค้ดเฉพาะ (schema markup) เพื่อช่วยให้เครื่องมือค้นหาเข้าใจเนื้อหาเว็บไซต์ของคุณ และแสดงผลแบบพิเศษใน Google (เช่น rich snippets)
-
สร้าง sitemap: จัดทำแผนผังเว็บไซต์ (sitemap) เพื่อให้ Google เข้าใจโครงสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์ และจัดหมวดหมู่หน้าต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
-
เพิ่มความเร็วเว็บไซต์: เลือกโฮสต์ที่มีคุณภาพ ลงทุนในระบบ CDN (Content Delivery Network) และบีบอัดไฟล์ภาพเพื่อให้โหลดไวขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยปรับประสบการณ์ของลูกค้าบนเว็บไซต์ให้ดีขึ้น
- ใช้ประโยชน์จากคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง: เขียนบล็อกให้ติดอันดับในคีย์เวิร์ดเป้าหมาย ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ และเพิ่มโอกาสรับลิงก์จากเว็บไซต์อื่น เมื่อคุณมอบคุณค่าให้ลูกค้าผ่านผลการค้นหา อัตราการแปลงก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยในระยะยาว
13. ปรับแต่งรูปภาพให้เหมาะกับเว็บไซต์
ภาพที่โหลดช้าเกินไปอาจกระทบต่อประสบการณ์ของลูกค้าและการจัดอันดับในผลการค้นหา และยังส่งผลต่ออัตราการซื้ออีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมปรับแต่งภาพ (ทั้งภาพสินค้าและภาพไลฟ์สไตล์) ให้เหมาะกับการแสดงผลบนเว็บ เพื่อให้เว็บไซต์โหลดไวขึ้นและลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น
Shopify ช่วยจัดการความซับซ้อนด้านเทคนิคให้คุณอยู่แล้ว เพื่อให้ภาพในร้านโหลดเร็ว แต่คุณก็ยังสามารถปรับปรุงเพิ่มได้อีกด้วยวิธีต่อไปนี้
-
ตั้งชื่อไฟล์ภาพให้สื่อความหมาย: ชื่อไฟล์ภาพที่ดีช่วยเรื่อง SEO ทั้งบนเว็บไซต์และหน้าสินค้า เลือกใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับภาพและธุรกิจของคุณ
-
ใส่ข้อความ Alt ให้เหมาะสม: Alt text ช่วยให้เว็บไซต์เข้าถึงได้มากขึ้น และยังช่วยให้ติด SEO ด้วย ให้ใส่คำอธิบายภาพที่มีคีย์เวิร์ดหากเกี่ยวข้อง
-
ลดขนาดไฟล์ภาพ: ภาพขนาดใหญ่ดูดีบนหน้าแรก แต่ควรบีบอัดไฟล์ให้เล็กลงเท่าที่ทำได้ โดยยังรักษาคุณภาพความคมชัดไว้
-
ใช้ไฟล์ JPEG หรือ PNG: โดยทั่วไป ใช้ JPEG สำหรับภาพถ่าย และ PNG สำหรับกราฟิกหรือไอคอน
-
ทดสอบภาพแบบ A/B: ทดลองใช้ภาพแบบต่างๆ เพื่อดูว่าแบบไหนเวิร์กที่สุด เช่น ภาพสินค้าแบบไลฟ์สไตล์ เทียบกับภาพสินค้าพื้นหลังขาว
💡 ทิปส์: ใช้เครื่องมือฟรีอย่าง Simple Image Resizer ของ Shopify เพื่อปรับขนาดไฟล์ก่อนอัปโหลดได้เลย
14. ตรวจสอบอีเมลอัตโนมัติ
เจ้าของร้านออนไลน์ทุกรายควรพิจารณาเพิ่มอีเมลไว้ในแผนการตลาดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะอีเมลยังเป็นช่องทางที่มีประโยชน์ในการสื่อสารข้อมูลสำคัญกับลูกค้าระหว่างกระบวนการสั่งซื้อ
สำหรับร้านของคุณ มีอีเมลอัตโนมัติหลายประเภทที่ควรปรับแต่งให้เรียบร้อยก่อนเปิดร้านจริง แก้ไขเทมเพลตอีเมล และสร้างลำดับอีเมล (email sequence) ที่ช่วยดูแลลิสต์ผู้ติดตาม และในที่สุดช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านของคุณ

Watchtopia ร้านขายนาฬิกาวินเทจใช้ Shopify Email เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดหลัก
ใช้ Shopify Email เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดโดยรวม และเพื่อสื่อสารกับลูกค้าแบบอัตโนมัติ ลองติดตั้งแอปอีเมลมาร์เก็ตติ้งอย่าง Shopify Email หรือแอปอื่นจาก Shopify App Store แล้วตั้งค่าอีเมลอัตโนมัติ ดังนี้
- อีเมลต้อนรับ (Welcome series) แนะนำแบรนด์ สินค้า และโปรโมชันสำหรับลูกค้าใหม่
- อีเมลยืนยันคำสั่งซื้อ (ใบเสร็จรับเงิน)
- อีเมลแจ้งเตือนตะกร้าสินค้าที่ถูกทิ้ง (ใช้โค้ดส่วนลดเพื่อดึงกลับมา)
- อีเมลยืนยันการสั่งซื้อ
- อีเมลโปรโมชันสำหรับลูกค้าประจำ
- อีเมลสำหรับแคมเปญหรือเทศกาลพิเศษ
15. ทดสอบขั้นตอนการชำระเงิน
ก่อนจะเปิดร้านจริง อย่าลืมตรวจสอบว่าลูกค้าสามารถดำเนินการซื้อสินค้าได้อย่างสมบูรณ์ โดยตามข้อมูลจาก Statista อัตราการละทิ้งตะกร้าสินค้าบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั่วโลกอยู่ที่ 70% เพื่อป้องกันปัญหานี้ ควรตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดในหน้าชำระเงินล่วงหน้า
ในการทดสอบกระบวนการชำระเงิน ควรแน่ใจว่า
- อัตราค่าจัดส่งแสดงบนหน้าเช็กเอาต์ พร้อมตัวเลือกการจัดส่งที่ชัดเจนตามพื้นที่ของลูกค้า
- ลูกค้าสามารถใช้โค้ดส่วนลดได้ในหน้าตะกร้า (ทดสอบทุกโค้ดว่าทำงานได้จริง)
- ลูกค้าสามารถแก้ไขตะกร้าสินค้าได้ (ลบสินค้า เปลี่ยนจำนวน)
- รองรับช่องทางชำระเงินยอดนิยม เช่น บัตรเครดิต PayPal Google Pay และ Shop Pay
-
ลูกค้าสามารถเข้าถึงหน้าติดต่อได้ง่าย กรณีมีคำถามหรือแก้ไขคำสั่งซื้อ
- มีระบบอีเมลแจ้งเตือนอัตโนมัติหลังจากสั่งซื้อ
- มีตัวเลือกเปลี่ยนภาษา เปลี่ยนสกุลเงิน และนโยบายการจัดส่งระหว่างประเทศที่ใช้งานได้จริง (หากร้านของคุณจัดส่งไปต่างประเทศ)
💡 ทิป: ใช้ Shopify Payments ในการสั่งซื้อทดลองแบบใช้เกตเวย์ชำระเงินจริง เพื่อทดสอบระบบให้แน่ใจว่าทุกอย่างทำงานได้ รวมถึงการทดสอบผ่านมือถือด้วย
16. เพิ่มช่องทางติดต่อสำหรับลูกค้า
แม้คุณจะมีหน้าติดต่อเฉพาะอยู่แล้วในเว็บไซต์ แต่การใส่ที่อยู่ธุรกิจ เบอร์โทร อีเมล และไลฟ์แชทไว้ในทุกหน้า (เช่น ในส่วน footer) ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้ลูกค้าติดต่อคุณได้ง่ายขึ้นจากทุกจุดบนเว็บไซต์

แบรนด์เครื่องประดับที่ใส่ใจจริยธรรมอย่าง Soko ทำให้การติดต่อทีมซัพพอร์ตทางอีเมลเข้าถึงได้ง่ายจากหน้าโฮมเพจของร้าน
17. ตั้งค่าช่องทางการขายต่างๆ
ผู้บริโภคในปัจจุบันคาดหวังประสบการณ์แบบออมนิแชนแนลจากแบรนด์ต่างๆ เพราะช่องทางการค้นหาและสั่งซื้อสินค้าเริ่มขยายออกไปมากกว่าการเสิร์ชบน Google ไม่ว่าจะเป็น YouTube หรือ TikTok ที่กลายเป็นแหล่งค้นพบสินค้าสำคัญ
แม้แต่ร้านค้าปลีกก็เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ที่แม้จะเติบโตมากับโลกออนไลน์ แต่ครึ่งหนึ่งของพวกเขายังชอบไปเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้านด้วยตัวเอง

ขายผ่านช่องทางการขายหลายช่องทาง รวมถึง TikTok Shop
เลือกช่องทางขายบนโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตเพลสที่เหมาะกับแบรนด์ของคุณมากที่สุด แล้วเพิ่มการเชื่อมต่อที่รองรับเข้ากับร้านบน Shopify ทำวิจัยตลาดเพื่อดูว่ากลุ่มเป้าหมายใช้แพลตฟอร์มไหน และพวกเขามักจะช้อปผ่านช่องทางใดบ้าง
ช่องทางขายออนไลน์ที่คุณสามารถเชื่อมกับร้านอีคอมเมิร์ซได้ เช่น
ช่องทางเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกับ Shopify ได้โดยตรง ทำให้คุณติดตามออเดอร์ สต็อกสินค้า และข้อมูลลูกค้าได้จากแพลตฟอร์มเดียว
18. ติดตั้งแอปและระบบเสริมที่จำเป็น
ใน Shopify App Store มีแอปให้เลือกมากมายเพื่อขยายความสามารถของเว็บไซต์ คุณสามารถเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วค่อยๆ เพิ่มแอปใหม่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น
ร้านค้าใหม่ควรโฟกัสที่เครื่องมืออีคอมเมิร์ซที่ช่วยด้านการตลาด การบริการลูกค้า และการเพิ่มยอดขาย รวมถึงมองหาแอปที่เหมาะกับธุรกิจของคุณโดยเฉพาะ เช่น แอปไซซ์ชาร์ตแบบละเอียดสำหรับร้านเสื้อผ้า หรือแอปแบบสอบถาม (Quiz) ที่ช่วยให้ลูกค้าเลือกสินค้าได้ง่ายขึ้น และลดโอกาสคืนสินค้าในกรณีที่แบรนด์มีสินค้าที่ซับซ้อนหรือมีหลายตัวเลือก

Shopify App Store รวมแอปที่มีเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซทุกขนาด
💡 เคล็ดลับดีๆ: งบน้อยก็เริ่มได้ มีแอป Shopify ฟรีมากมายที่ช่วยจัดการธุรกิจให้ง่ายขึ้น ทั้งด้านการตลาด การจัดส่ง และอื่นๆ
19. ตั้งค่าเครื่องมือวิเคราะห์และติดตามผล
การตั้งค่าระบบวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่วันแรกที่ร้านออนไลน์เปิดใช้งาน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณเข้าใจพฤติกรรมของผู้เข้าชมและลูกค้า เช่น เส้นทางการใช้งานบนเว็บไซต์ แหล่งที่มาของทราฟฟิก หรือจุดที่ลูกค้าเกิดปัญหาและออกจากเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้นเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
Shopify Analytics เป็นฟีเจอร์ที่มีในระบบ Shopify อยู่แล้ว ทำให้คุณสามารถดูข้อมูลผ่านแดชบอร์ดได้เลย หรือจะใช้เครื่องมือเสริม เช่น Google Analytics และ Google Search Console ก็ได้เช่นกัน หากคุณต้องการดูเชิงลึกเฉพาะด้านมากขึ้น สามารถเลือกใช้หลายเครื่องมือผสมกันได้ แต่อย่าลืมเริ่มต้นด้วยการติดตามเมตริกพื้นฐานของร้านค้าอีคอมเมิร์ซก่อน
💡 เคล็ดลับดีๆ: ใน Shopify App Store มีแอปวิเคราะห์ข้อมูลหลายตัวที่สามารถติดตั้งและทำงานร่วมกับร้านของคุณได้ ลองเข้าไปเลือกดูว่าแอปไหนเหมาะกับคุณที่สุด
20.วางแผนการตลาดก่อนเปิดร้าน
หากไม่มีใครรู้ว่าคุณจะเปิดร้านออนไลน์ ก็คงไม่มีใครแวะมา วิธีที่ดีที่สุดคือวางแผนการตลาดก่อนเปิดตัว เพื่อสร้างกระแสและฐานผู้ติดตามตั้งแต่ยังไม่เปิดร้านจริง แม้ว่าการตลาดจะเป็นสิ่งที่คุณต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่กลยุทธ์ก่อนเปิดร้านก็สำคัญไม่แพ้กัน
ตัวอย่างแผนการตลาดก่อนเปิดร้านที่สามารถใช้ได้ เช่น
- สร้างหน้าแลนดิ้งเพจเพื่อเก็บอีเมลลูกค้า
- โพสต์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียทั้งก่อนและหลังเปิดร้าน เพื่อสร้างความตื่นเต้น
- เตรียมโอกาสทำ PR
- จัดกิจกรรมเปิดร้านแบบออนไลน์หรือออฟไลน์
- เปิดให้พรีออเดอร์
- ส่งโปรโมชันให้ลูกค้ากลุ่มแรกเข้าร่วมแบบ early access พร้อมรหัสผ่านเข้าสู่หน้าเว็บไซต์

Hush ใช้ระบบพรีออเดอร์เพื่อสร้างความคาดหวังและกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ก่อนที่สินค้าจะพร้อมจัดส่ง
ทำไมเช็คลิสต์เปิดตัวเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซถึงสำคัญ
ในช่วงหลายเดือนหรือไม่กี่วันก่อนวันเปิดร้านออนไลน์ มีเรื่องให้คิดมากมาย ความสำเร็จของร้านอีคอมเมิร์ซขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ราบรื่นของลูกค้าและระบบหลังบ้านที่ทำให้คุณสามารถบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเช็คลิสต์เปิดตัวร้านจะช่วยอะไรได้บ้าง?
มั่นใจได้ว่าไม่พลาดสิ่งสำคัญ
เมื่อเช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย สิ่งเล็กๆ ที่สำคัญอาจถูกมองข้าม การเช็กทีละข้อบนรายการช่วยให้คุณมั่นใจว่าไม่มีอะไรตกหล่น ไม่ต้องคอยกังวลว่า "ลืมอะไรไปหรือเปล่า?" เพราะคุณได้ตรวจสอบ ทดสอบ และเตรียมพร้อมทุกขั้นตอนของประสบการณ์ลูกค้าในร้านออนไลน์แล้ว
เปิดตัวร้านได้อย่างราบรื่น
เช็คลิสต์ช่วยลดความไม่แน่นอน และทำให้สิ่งที่ต้องทำชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนเปิดร้าน การเคลียร์งานต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนถึงวันจริง จะช่วยให้คุณไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องเล็กน้อย แล้วสามารถโฟกัสไปที่การเชื่อมต่อกับลูกค้าและสร้างประสบการณ์ที่ดีในทุกคำสั่งซื้อ
กำหนดโทนประสบการณ์ลูกค้า
ลูกค้าอาจเลิกซื้อกับร้านคุณทันที ถ้าประสบการณ์แรกไม่น่าประทับใจ ในทางกลับกัน ถ้าประสบการณ์ดี ก็อาจกลายเป็นลูกค้าประจำ และช่วยบอกต่อแบบปากต่อปาก การทำเช็คลิสต์ให้ครบทุกข้อช่วยลดโอกาสผิดพลาด แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นจริง คุณก็ยังมีเวลาพอที่จะแก้ไขได้ เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องพื้นฐานอย่าง SEO หรือการตั้งค่าค่าจัดส่งแล้ว
เช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์ของคุณครบทุกข้อหรือยัง? ดูให้ชัวร์
ตอนนี้คุณได้ทำทุกข้อในเช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาปล่อยเว็บไซต์และแบรนด์ของคุณออกสู่สายตาผู้คน เริ่มต้นแผนการตลาดที่วางไว้ และสร้างการรับรู้แบรนด์อย่างจริงจัง
สิ่งที่ดีที่สุดคือ ทุกอย่างยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เมื่อคุณได้รับฟีดแบ็กและข้อมูลจากลูกค้า ก็สามารถปรับตั้งค่าการจัดส่ง หรือออกแบบเว็บไซต์ใหม่ได้ คุณอาจเลือกลงทุนเพิ่มเติมใน SEO สำหรับอีคอมเมิร์ซ และลดการใช้จ่ายกับแคมเปญการตลาดที่ไม่ได้ผล ปรับปรุงหน้าเช็กเอาต์ เพิ่มแอปที่จำเป็น และพัฒนาการบริการลูกค้า ทั้งหมดนี้เพื่อให้ได้ลูกค้าที่พึงพอใจมากขึ้น และยอดขายที่เพิ่มขึ้น
ภาพประกอบโดย Eugenia Mello
ข้อมูลเพิ่มเติมโดย Adam Rogers
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเช็คลิสต์เปิดร้านออนไลน์
ขั้นตอนในการสร้างเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซมีอะไรบ้าง?
เมื่อคุณเลือกใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopify คุณสามารถสร้างเว็บไซต์ได้ในไม่กี่ขั้นตอน เริ่มจากสมัครใช้งานฟรี เลือกซื้อชื่อโดเมน และปรับแต่งหน้าตาเว็บไซต์ให้ตรงกับแบรนด์ เช็คลิสต์สำหรับการเปิดร้านออนไลน์จะช่วยให้คุณไม่พลาดรายละเอียดสำคัญ เช่น การตั้งค่าจัดส่ง และอัปเดตวิธีการชำระเงิน
ข้อกำหนดพื้นฐานด้านฟังก์ชันของเว็บไซต์มีอะไรบ้าง?
ฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซควรรองรับการเข้าถึงทุกอุปกรณ์ (รวมถึงมือถือ), ระบบเช็กเอาต์ที่ทำงานได้จริง, หน้าข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัว แพลตฟอร์มที่คุณเลือกควรมีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างน้อย ส่วนฟีเจอร์เสริมที่ควรมี ได้แก่ ระบบล็อกอินลูกค้า, การปรับแต่งเนื้อหาตามผู้ใช้งาน, ฟีเจอร์แบบโต้ตอบ, แชทบอท และอื่นๆ
ร้านออนไลน์ควรเริ่มต้นด้วยสินค้ากี่ชิ้น?
สินค้าแค่ชิ้นเดียวก็เริ่มได้ หลายแบรนด์เริ่มต้นด้วยสินค้าเดียวและค่อยๆ ขยายเพิ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องในภายหลัง หากคุณมีสินค้าหลายรายการ ควรใช้เมนูนำทาง หน้าแสดงคอลเลกชัน และหน้าหมวดหมู่เพื่อช่วยให้ลูกค้าเลือกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น