คุณมีไอเดียธุรกิจอยู่ในมือแล้ว ศึกษาความเป็นไปได้มาเรียบร้อย วางแผนพร้อมใช้งาน แล้วจะหาแหล่งขายส่ง SME จากที่ไหนเพื่อทำให้ทุกอย่างเริ่มต้นได้จริง?
ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ขายสินค้า จะต้องผลิตสินค้าเองเสมอไป แบรนด์ออนไลน์จำนวนมากเลือกซื้อสินค้าทั้งหมดจากซัพพลายเออร์ขายส่ง แล้วนำมาปรับแต่ง ติดแบรนด์ ตั้งราคาขายใหม่ และทำกำไรในโมเดลแบบ DTC (ขายตรงถึงลูกค้า)
การซื้อสินค้าจากแหล่งขายส่งสำหรับ SME จะช่วยลดต้นทุนก้อนใหญ่ที่เจ้าของธุรกิจหน้าใหม่มักเจอในปีแรก นั่นคือต้นทุนสินค้า จากผลสำรวจของ Shopify พบว่า 21% ของเจ้าของธุรกิจบอกว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสต็อกสินค้า เช่น การทดสอบสินค้าตัวใหม่หรือการคืนสินค้าที่มีตำหนิ อาจทำให้ต้นทุนพุ่งสูงได้อย่างรวดเร็ว
แม้หลายคนจะคิดว่าการซื้อขายแบบขายส่งเหมาะกับเฉพาะห้างร้านขนาดใหญ่หรือบริษัทระดับโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยก็เลือกใช้แหล่งขายส่ง SME เช่นกัน บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับซัพพลายเออร์ขายส่งที่เหมาะที่สุดสำหรับธุรกิจของคุณ
พร้อมเริ่มต้นธุรกิจแล้วหรือยัง? สร้างเว็บไซต์ของคุณได้เลยวันนี้ หรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือของ Shopify สำหรับการขายทั้งออนไลน์และหน้าร้านจริง
ซัพพลายเออร์ขายส่ง SME คืออะไร?
ซัพพลายเออร์ขายส่ง SME คือผู้ประกอบการแบบ B2B (ธุรกิจกับธุรกิจ) ที่ขายสินค้าในราคาขายส่งให้กับเจ้าของกิจการรายอื่น โดยผู้ซื้อจะนำสินค้าไปขายต่อแบบปลีกให้ผู้บริโภคเพื่อทำกำไร ซัพพลายเออร์เหล่านี้อาจเป็นผู้ผลิตเองหรือไม่ก็ได้ บางรายก็ทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน
วิธีหาแหล่งขายส่งสำหรับ SME
1. เริ่มต้นค้นหาตัวเลือกที่มีอยู่
ทุกการค้นหาเริ่มจากที่ไหนสักแห่ง หากคุณกำลังมองหาแหล่งขายส่งสำหรับ SME ลองเริ่มจากการค้นหาผ่าน Google ซึ่งมักจะมีลิสต์ของซัพพลายเออร์ขายส่งยอดนิยมให้พิจารณาในเบื้องต้น คุณสามารถค้นหาตามชื่อสินค้า อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งตามพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับธุรกิจของคุณมากขึ้น
จดบันทึกซัพพลายเออร์ขายส่งที่เจอไว้ในขั้นตอนนี้ รายชื่อนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม
2. เช็คตัวเลือกที่น่าสนใจ
ไม่ใช่ทุกซัพพลายเออร์จะเชื่อถือได้ ดังนั้นควรตรวจสอบให้ละเอียดมากกว่าแค่หน้าแรกของผลการค้นหา ลองค้นหาชื่อบริษัทขายส่งนั้นร่วมกับคำว่า “รีวิว” หรือ “หลอกลวง” เพื่อดูว่ามีสัญญาณอันตรายหรือไม่
เข้าไปดูเว็บไซต์ของแต่ละแหล่งขายส่ง SME ที่คุณเจอจากการค้นหา ตรวจสอบรายละเอียดสินค้า ราคา และเงื่อนไขต่างๆ ดูว่ามีที่อยู่จริงหรือช่องทางติดต่อชัดเจนหรือไม่ เพราะธุรกิจที่น่าเชื่อถือควรเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างโปร่งใส
อ่านรีวิวออนไลน์จากลูกค้าหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เคยทำงานกับซัพพลายเออร์นั้นมาก่อน ดูทั้งคำชมและคำติ รวมถึงวิธีที่ซัพพลายเออร์ตอบสนองต่อความคิดเห็นเหล่านั้น ซึ่งสามารถบอกได้มากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจในอนาคตของคุณ
สุดท้าย ลองดูว่ามีใบรับรองหรือการเป็นสมาชิกในองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้แสดงถึงความน่าเชื่อถือและมาตรฐานในอุตสาหกรรม
3. ติดต่อซัพพลายเออร์โดยตรง
เมื่อคุณมีลิสต์ที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้นแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มติดต่อแหล่งขายส่ง SME ที่น่าสนใจ
ส่งอีเมลหรือโทรสอบถามเกี่ยวกับสินค้า ราคา และเงื่อนไขการสั่งซื้อ เช่น ปริมาณขั้นต่ำ (MOQ), ระยะเวลาผลิต, วิธีการชำระเงิน และตัวเลือกในการจัดส่ง การติดต่อครั้งแรกนี้จะช่วยให้คุณประเมินความเป็นมืออาชีพและความร่วมมือของซัพพลายเออร์ได้ในเบื้องต้น
ขอตัวอย่างสินค้า แคตตาล็อก หรือสมัครบัญชีขายส่งในระบบ B2B ของซัพพลายเออร์ เพื่อให้คุณสามารถประเมินคุณภาพของสินค้าและบริการได้ก่อนตัดสินใจ
4. เปรียบเทียบและเลือกให้เหมาะกับธุรกิจคุณ
หลังจากติดต่อกับซัพพลายเออร์หลายรายแล้ว ให้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบ ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า ราคา ปริมาณขั้นต่ำที่ต้องสั่ง และการบริการลูกค้า
เลือกซัพพลายเออร์ขายส่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจคุณมากที่สุด โดยพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละเจ้า เพื่อให้คุณได้พาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของธุรกิจ
11 แหล่งขายส่ง SME ที่น่าสนใจ
- AliExpress
- DHgate
- 1688
- IndiaMart
- SaleHoo
- Wholesale7
- Worldwide Brands
- Shopify Collective
- Pantavanij
- Shopee Seller Center
- Lazada Seller Center
1. AliExpress
AliExpress จากจีนเป็นหนึ่งในแหล่งขายส่ง SME ยอดนิยมที่เชื่อมต่อกับเครือ Alibaba จุดเด่นคือมีสินค้ามากกว่า 100 ล้านรายการ ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ ตั้งแต่แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงของใช้ทั่วไปในบ้าน ทั้งยังไม่มีขั้นต่ำในการสั่งซื้อ และไม่มีค่าคอมมิชชันจากการซื้อขาย
เหมาะกับเจ้าของธุรกิจ SME ไทยที่ต้องการทดลองสินค้าหลายประเภท หรือเริ่มขายของออนไลน์โดยไม่ต้องสต๊อกสินค้าในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม AliExpress ไม่มีการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดมากนัก ผู้ค้าควรตรวจสอบรีวิวสินค้าและสั่งตัวอย่างก่อนซื้อจำนวนมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและความน่าเชื่อถือของซัพพลายเออร์
2. DHgate
DHgate เป็นแพลตฟอร์มขายส่งจากจีนอีกแห่งที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ประกอบการ SME ไทย จุดเด่นคือราคาสินค้าที่ค่อนข้างถูก และมีสินค้าให้เลือกหลากหลายทั้งในหมวดแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไลฟ์สไตล์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อของไปขายต่อผ่านช่องทางออนไลน์หรือแพลตฟอร์มโซเชียล
ซัพพลายเออร์ขายส่ง SME อย่าง DHgate มีระบบเรตติ้ง ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตาม คล้ายกับ AliExpress ผู้ใช้งานควรระวังสินค้าลอกเลียนแบบ และควรสั่งตัวอย่างก่อนตัดสินใจซื้อจำนวนมาก เพื่อควบคุมคุณภาพและความสอดคล้องกับตลาดของตัวเอง
3. 1688
1688.com เป็นเว็บไซต์ขายส่งในเครือ Alibaba ที่เน้นตลาดจีนในประเทศโดยเฉพาะ แต่กลายเป็นแหล่งสั่งซื้อยอดนิยมสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการราคาต้นทุนต่ำที่สุด จุดเด่นของ 1688 คือราคาที่ถูกกว่า AliExpress หรือ Alibaba อย่างเห็นได้ชัด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำเข้าสินค้าจำนวนมากเพื่อไปขายต่อในไทย
อย่างไรก็ตาม 1688.com ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก และมักไม่รองรับการจัดส่งต่างประเทศโดยตรง ผู้ใช้งานในไทยจึงนิยมใช้บริการ “ชิปปิ้ง” หรือตัวแทนจัดซื้อที่มีประสบการณ์ในการติดต่อกับผู้ขายจีน รวมถึงจัดการขนส่งมายังไทยแบบเหมารวม เหมาะอย่างยิ่งสำหรับ SME ที่ต้องการสร้างแบรนด์หรือสต๊อกสินค้าแบบจริงจัง
4. IndiaMart
IndiaMart เป็นแพลตฟอร์ม B2B รายใหญ่ของอินเดียที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SME ทั่วโลกรวมถึงในไทย เข้าถึงซัพพลายเออร์และผู้ผลิตจากอินเดียโดยตรง จุดเด่นคือมีสินค้าเฉพาะทางและวัตถุดิบที่หลากหลาย ทั้งสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง อุปกรณ์อุตสาหกรรม ไปจนถึงสินค้าแฮนด์เมดและของแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์
สำหรับผู้ค้าชาวไทยที่ต้องการความแตกต่างในสินค้า หรือเน้นสินค้าที่ไม่ใช่แนว mass production แบบจีน IndiaMart เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่อาจต้องใช้เวลาศึกษาเรื่องภาษี ศุลกากร และระยะเวลาการจัดส่งให้ดี เพราะสินค้าอินเดียบางกลุ่มอาจใช้เวลาขนส่งนานกว่าแหล่งอื่น
5. SaleHoo
SaleHoo เป็นแพลตฟอร์มขายส่ง SME และดรอปชิปจากนิวซีแลนด์ที่ได้รับความนิยมในระดับสากล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เริ่มต้นขายของออนไลน์ จุดเด่นคือมีการคัดกรองซัพพลายเออร์มาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ และเหมาะสำหรับผู้ค้าปลีกขนาดเล็กหรือ SME ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ต้องเสี่ยงกับซัพพลายเออร์ที่ไม่น่าไว้ใจ
ในฐานะสมาชิกของ SaleHoo ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงไดเรกทอรีซัพพลายเออร์กว่า 8,000 รายทั่วโลก พร้อมข้อมูลราคา เงื่อนไขขั้นต่ำ และรายละเอียดสินค้า อีกทั้งยังมีเครื่องมือค้นหาสินค้าที่ขายดี ช่วยให้ผู้ค้าชาวไทยวางแผนสต๊อกหรือขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น
6. Wholesale7
Wholesale7 เป็นแพลตฟอร์มขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นจากจีนที่เน้นสินค้าทันสมัย ราคาจับต้องได้ เหมาะกับผู้ค้าชาวไทยที่เน้นตลาดแฟชั่นออนไลน์ ทั้งเสื้อผ้าผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก จุดเด่นคือมีการอัปเดตเทรนด์บ่อย ส่งเร็ว และไม่มีขั้นต่ำในการสั่งซื้อ ทำให้เหมาะกับ SME หรือร้านค้าเริ่มต้นที่อยากลองขายหลายสไตล์ก่อนลงทุนจริงจัง
Wholesale7 รองรับการจัดส่งมายังประเทศไทยโดยตรงผ่านบริษัทขนส่งระหว่างประเทศ และยังรองรับระบบ dropshipping สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสต๊อกสินค้าเอง แถมยังมีภาพสินค้าแบบมืออาชีพที่สามารถนำไปใช้โปรโมตได้ทันที
7.Worldwide Brands
Worldwide Brands เป็นไดเรกทอรีซัพพลายเออร์ขายส่ง SME แบบ B2B จากสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงด้านความน่าเชื่อถือและความหลากหลายของหมวดสินค้า จุดแข็งคือมีการตรวจสอบและรับรองซัพพลายเออร์ก่อนเข้าระบบ ทำให้เหมาะกับ SME ที่ต้องการความมั่นใจว่าได้ทำงานกับผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่งตัวจริง
ภายในแพลตฟอร์มมีสินค้าหลายหมวด ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น ของใช้ในบ้าน ไปจนถึงสินค้าเฉพาะทางบางประเภท ผู้ใช้งานไทยสามารถใช้เพื่อค้นหาซัพพลายเออร์จากตลาดโลกได้ โดยเฉพาะหากต้องการนำเข้าสินค้าพรีเมียมหรือสินค้าที่หาไม่ได้ง่ายจากตลาดจีนหรืออินเดีย
8. Shopify Collective
Shopify Collective เป็นฟีเจอร์ใหม่ของ Shopify ที่เปิดโอกาสให้ร้านค้าขนาดเล็กหรือ SME สามารถขายสินค้าร่วมกับซัพพลายเออร์ในเครือข่าย Shopify ได้โดยไม่ต้องจัดการสต๊อกเอง คล้ายระบบดรอปชิป แต่เน้นความน่าเชื่อถือของร้านค้าผู้ผลิตที่มีอยู่แล้วใน Shopify
จุดเด่นของ Shopify Collective คือการเชื่อมต่อที่ง่าย ไม่ต้องใช้แอปเสริมเพิ่มเติม เพียงเลือกรายการสินค้าที่ต้องการนำเข้ามาขายบนร้านของคุณ พร้อมกำหนดราคาและกำไรได้ตามต้องการ ผู้ขายต้นทางจะเป็นคนแพ็กและจัดส่งให้
เหมาะอย่างยิ่งสำหรับ SME ไทยที่อยากทดลองตลาดใหม่ ขยายไลน์สินค้าโดยไม่ต้องลงทุนเรื่องสต๊อกสินค้าและโลจิสติกส์เอง
9. Pantavanij
Pantavanij เป็นแพลตฟอร์มจัดซื้อจัดจ้างและขายส่ง SME แบบ B2B รายใหญ่ของไทย ที่เชื่อมโยงผู้ขายและองค์กรธุรกิจเข้าด้วยกัน จุดเด่นคือระบบจัดซื้อที่โปร่งใส มีเครื่องมือบริหารจัดการคำสั่งซื้อ และการทำสัญญาที่เหมาะกับทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ SME
แพลตฟอร์มนี้มีซัพพลายเออร์หลากหลาย ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง สินค้าโรงงาน และสินค้าสำนักงาน จึงเหมาะสำหรับธุรกิจไทยที่ต้องการแหล่งซื้อขายในประเทศ ที่ไว้วางใจได้และมีระบบหลังบ้านที่ชัดเจน
10.Shopee Seller Center
Shopee Seller Center คือศูนย์จัดการร้านค้าของ Shopee ที่ผู้ขายสามารถตั้งค่าร้าน จัดการสต๊อกสินค้า และสร้างแคมเปญโปรโมตต่างๆ ได้เอง จุดเด่นคือมีฟีเจอร์สำหรับซื้อขายแบบ B2B เช่น สินค้าราคาส่ง หรือแพ็คหลายชิ้น และมีฟีเจอร์ “Shopee for Business” สำหรับลูกค้าระดับองค์กร
SME ไทยที่ต้องการขยายยอดขายและจับกลุ่มผู้ซื้อที่เน้นราคาส่ง สามารถใช้ Shopee เป็นอีกหนึ่งช่องทางได้ทันที โดยไม่ต้องลงทุนพัฒนาเว็บไซต์เอง
11. Lazada Seller Center
Lazada Seller Center เป็นแพลตฟอร์มบริหารร้านค้าบน Lazada ที่เปิดให้ผู้ค้ารายย่อยและผู้ค้าส่งในไทยเข้ามาขายสินค้าได้ จุดแข็งคือ Lazada มีฟีเจอร์สำหรับขายส่ง เช่น ราคาพิเศษเมื่อสั่งซื้อมากกว่า X ชิ้น การตั้งราคาส่ง และการจัดโปรฯ พิเศษสำหรับลูกค้า B2B
เหมาะสำหรับ SME ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจขายส่งโดยไม่ต้องมีระบบร้านค้าเอง หรือยังไม่พร้อมลงทุนด้านเทคโนโลยีมากนัก อีกทั้งยังเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากในระบบของ Lazada ได้อย่างง่ายดาย
ข้อควรพิจารณาในการเลือกซัพพลายเออร์ขายส่ง SME
หากคุณกำลังมองหาแหล่งขายส่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก มีหลายปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึง ดังนี้
ราคา
ต้นทุนสินค้าคือประเด็นใหญ่ ซัพพลายเออร์ควรเสนอราคาที่ต่ำพอให้คุณบวกกำไรต่อหน่วยได้โดยที่ราคาขายยังดึงดูดลูกค้าได้ นอกจากนี้ ยังควรดูเรื่อง MOQ (ขั้นต่ำในการสั่งซื้อ) ด้วย เพราะต่อให้ราคาต่อชิ้นถูก แต่ถ้าต้องสั่งขั้นต่ำจำนวนมากเกินไป ก็อาจไม่เหมาะกับงบของธุรกิจเล็กๆ
กลุ่มสินค้า
หากคุณใช้แพลตฟอร์มขายส่งแบบ marketplace ความหลากหลายของสินค้าจะเป็นข้อได้เปรียบ เพราะสามารถเลือกซัพพลายเออร์หลายรายที่มีจุดเด่นต่างกัน และอาจใช้เจ้าเดิมต่อยอดไลน์สินค้าใหม่ในอนาคตโดยไม่ต้องเริ่มต้นหาจากศูนย์อีกครั้ง
ในทางกลับกัน ถ้าคุณเน้นขายสินค้าที่เฉพาะทางและต้องการคุณภาพสูง ควรเลือกซัพพลายเออร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งในกรณีนี้ “คุณภาพ” จะสำคัญกว่าความหลากหลายของสินค้า
โลเคชัน
ซัพพลายเออร์ภายในประเทศจะช่วยลดเวลาจัดส่ง ประหยัดค่าขนส่ง และไม่ต้องเสี่ยงเสียภาษีนำเข้า แถมลดปัญหาสินค้าติดศุลกากร แต่ข้อจำกัดคือ ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีตัวเลือกไม่มาก คุณอาจต้องยอมขยายการค้นหาไปยังพื้นที่อื่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้มากกว่า
นโยบายการจัดส่ง
ลูกค้าสมัยนี้คาดหวังว่าจะได้ "จัดส่งฟรี" แม้แต่การซื้อแบบขายส่งก็เช่นกัน ซัพพลายเออร์บางเจ้ามีจัดส่งฟรีเมื่อถึงยอดขั้นต่ำ หรือบางเจ้าก็ไม่มีเลย ค่าจัดส่งที่เพิ่มเข้ามาจะส่งผลโดยตรงกับต้นทุนรวม และแน่นอนว่ากระทบต่อกำไรของคุณ ควรเช็กให้ชัดเจนเรื่องผู้ให้บริการขนส่ง ระยะเวลาส่ง และค่าบริการ
จำนวนสั่งซื้อขั้นต่ำ
ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่อาจยังไม่มีทุนหมุนเวียนมากพอในการสั่งของล็อตใหญ่ หากขั้นต่ำในการสั่งซื้อสูงเกินไป อาจลองติดต่อขอ “ตัวอย่างสินค้า” ก่อนก็ได้ เช่นเดียวกับฝั่งขีดจำกัดสูงสุด—หากคุณคาดว่าจะสั่งของจำนวนมากในอนาคต ก็ควรเช็กว่าเขารับออร์เดอร์ได้ตามความต้องการ
ชื่อเสียงและรีวิว
อย่าลืมตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจโอนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลออนไลน์ ขอใบอนุญาตการค้า หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันความถูกต้องของธุรกิจนั้นๆ
เมื่อคุณพิจารณาทุกปัจจัยด้านบนร่วมกัน และจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะกับช่วงเวลาที่ธุรกิจคุณอยู่ในตอนนี้ โอกาสในการเลือกซัพพลายเออร์ขายส่งที่เหมาะสมและช่วยให้คุณเติบโตในระยะยาวก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
หาแหล่งขายส่งธุรกิจ SMEของคุณให้เจอวันนี้
แม้จะมีตัวเลือกมากมายให้เลือก แต่การหาซัพพลายเออร์ขายส่งสำหรับ SME ที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและการวางแผนอย่างรอบคอบ เพราะการมีสินค้าที่พร้อมขายคือจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปิดร้านออนไลน์
เริ่มต้นจากการเลือกซัพพลายเออร์ที่มีรีวิวดีและเข้าใจตลาดของคุณ ลองขอสินค้าตัวอย่าง ต่อรองราคาให้เหมาะ แล้วเริ่มเปิดร้านของคุณด้วยความมั่นใจ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับซัพพลายเออร์ขายส่ง SME
จะหาดิสทริบิวเตอร์ให้กับธุรกิจ SME ได้ยังไง?
- เริ่มต้นค้นหาตัวเลือกที่มีอยู่
- ตรวจสอบและคัดกรองตัวเลือกที่น่าสนใจ
- ติดต่อซัพพลายเออร์
- เปรียบเทียบและเลือกตัวเลือกที่ใช่
แหล่งซื้อสินค้าขายส่งที่ดีที่สุดคือที่ไหน?
ซัพพลายเออร์ขายส่งยอดนิยมสำหรับธุรกิจ SME ได้แก่
- DHgate
- IndiaMart
- Zooby
- Shopify Collective
ซัพพลายเออร์ขายส่งใช้ AI ทำอะไรได้บ้าง?
ซัพพลายเออร์ขายส่งใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลยอดขายในอดีตและคาดการณ์แนวโน้มล่วงหน้า เช่น หากระบบพบว่ายอดขายเพิ่มขึ้น 50% ช่วง Black Friday ก็จะตั้งจุดสั่งซื้อสินค้าใหม่ให้เร็วขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้ของขาดช่วงพีค ช่วยให้วางแผนสต็อกและเติมสินค้าได้แม่นยำขึ้น
ความแตกต่างระหว่างขายส่งกับดรอปชิป คืออะไร?
ในระบบขายส่ง คุณซื้อสินค้าในสต็อกจากซัพพลายเออร์และรับของมาก่อน แล้วค่อยขายเองให้ลูกค้า ส่วนดรอปชิปนั้น ลูกค้าสั่งซื้อผ่านร้านคุณ แต่ซัพพลายเออร์จะเป็นคนจัดส่งสินค้าให้โดยตรง คุณไม่ต้องสต็อกสินค้าเอง ลดความเสี่ยงด้านคลังสินค้า แต่กำไรต่อหน่วยอาจน้อยกว่า
จะหาซัพพลายเออร์ได้จากที่ไหน?
- ค้นหาผ่านกูเกิล
- ขอคำแนะนำจากเครือข่ายธุรกิจ
- ใช้แพลตฟอร์มขายส่งออนไลน์
- เข้าร่วมงานแสดงสินค้า